‘ริสค์’ เชื่อมเครือข่ายอสังหาฯ สู่ นวัตกรรมยั่งยืน

‘ริสค์’ เชื่อมเครือข่ายอสังหาฯ สู่ นวัตกรรมยั่งยืน

“ริสค์” ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ หน่วยงานอยู่ในเครือแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ชูแนวคิดนำของเหลือใช้มาพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับอสังหาฯสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่ผ่านมาทิศทางการดำเนินธุรกิจมักจะปรับเปลี่ยนไปตามยุค ตามสมัย ตามกระแสโลกเพื่อให้เกิดการยอมรับจากผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าหรือบริการนั้นๆ รวมทั้งยอดขาย 

โดยเทรนด์ที่ไม่เคยตกยุคก็คือ สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดๆต่างให้ความสำคัญเพราะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นองค์กรที่ “ใส่ใจ”หรือ “รักษ์” สิ่งแวดล้อม

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ริสค์” (RISC)ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ ภายใต้แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ซึ่งได้สร้างเครือข่ายแนวร่วมทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่มีองค์ความรู้ มาพัฒนาวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดการใช้งานได้จริงอย่างครบวงจรเพื่อความยั่งยืนของภาคอสังหาริมทรัพย์ในไทย ด้วยการ“ปฏิวัติโมเดลธุรกิจ”จากขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเส้นตรง(Linear Economy)ที่ผลิตใช้แล้วทิ้ง มาสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ‘ลด’ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในอนาคต

“1 ปีผ่านมาศูนย์ฯ ได้พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมออกมาใช้ อาทิ อัพไซเคิลพลาสติกจากทะเลเพื่อทำขอบถนนจากขยะพลาสติก ทางเดิน พื้นผิวถนน รวมถึงการดูแลสุขภาพคนในอาคารด้วยการพัฒนาเซนเซอร์วัดคุณภาพอากาศ และพัฒนาระบบกรองอากาศในอาคารและติดตั้งเอาดอร์เซนเซอร์ตรวจวัดอากาศ ก่อนที่จะมีปัญหา PM2.5 ที่โครงการ วิสซ์ดอม 101 และท่าพระ ” รศ.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC กล่าวถึงความคืบหน้า

หลังจาก “วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหารผู้บริหารแมกโนเลียได้ ประกาศวิชั่น ลงทุนกว่า 6,000ล้านบาทในช่วง 10 ปีตั้งแต่ปี2561-2570 ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมเพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน (Sustainnovation for all well-being) ซึ่งหมายรวมถึงมนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1. Energy & Environment 2.Home&Wellbeing และ 3. Behavior&Psychlogy เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละกลุ่ม โดยเริ่มจากกำหนดมาตรฐานการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การติดตั้งและก่อสร้างที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ยกตัอย่าง บังคับไม่ให้ใช้ราวบันไดแนวนอนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งคนก่อสร้างหรือผู้อยู่อาศัยในอนาคต

“งบในแต่ละปีเฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท เราจะทำให้คุ้มค่ามากที่สุดโดยจะกระจายไปทั่วโลกไม่เฉพาะในไทย เพื่อทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมออกสู่ตลาดการใช้งานจริง แต่ไม่ได้กำหนดว่าในแต่ละปีจะต้องมีผลงานวิจัย นวัตกรรมจำนวนเท่าไร จดสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาเท่าไร เพราะดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน(KPI)หลายหลาย ไม่จำกัดแค่งานวิจัยแต่ยังรวมถึงการเผยแพร่ความรู้ การเข้าไปให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการต่างๆ ให้เข้ามาทำนวัตกรรมที่่ทำให้สุขภาวะดีขึ้น ”

ยกตัวอย่าง ประตูระบายอากาศที่ใช้ในอาคารขนาดเล็กช่วยกันเสีย กันฝุ่น และให้ความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นฝีมือของนักวิจัยไทยคาดว่าจะได้ต้นแบบในปีนี้ หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาสารลูซิเฟอริน (Luciferin) ที่ทำให้เกิดแสงในหิ่งห้อยเพื่อนำมาใช้กับต้นไม้ทำให้ใบไม้เรืองแสงนำมาใช้ทดแทนไฟฟ้าข้างทางอยู่ระหว่างการพัฒนาในห้องทดลองในต่างประเทศ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับปลวกได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องฆ่าปลวก เป็นต้น

เป้าหมายของศูนย์ฯคือ‘บ่มเพาะ’นวัตกรรมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ธุรกิจใหม่ออกมา ซึ่งจะมีบริษัทในเครือสปินออฟ นำนวัตกรรม‘ต้นแบบ’ไปเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ MQDC ในอนาคต แต่ไม่ได้จำกัดวงแค่ในเครือ หากมีผู้ประการที่สนใจนอกเครือก็สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยทีมวิจัยพร้อมให้การสนับสนุน ฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย

จากแนวทางดังกล่าวส่งผลให้เกิด“กำไร”ที่มองไม่เห็นนั่นคือ‘เครือข่าย’ที่เข้ามาเป็น‘แนวร่วม’ในการแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ โดยในปี2560ที่ผ่านมามีคนเข้ามาเยี่ยมศูนย์ฯจำนวนกว่า10,000 คน ตกเดือนละ1,000 คน ทั้งที่ไม่ได้โปรโมทผ่านสื่อมีแค่เฟซบุ๊ค ที่แชร์ข้อมูลงานวิจัยที่ย่อยแล้ว รวมทั้งตารางการสัมมนาในหัวข้องต่างๆ เท่านั้น แต่ผลการตอบรับเกินคาด ไม่นับรวมพาร์ทเนอร์ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุฬาฯ เกษตรฯ เอสซีจี อินทรี จีซี สภากาชาดไทย อภัยภูเบศร ฯลฯ

“ศูนย์ริสค์ จะเป็นตัวกลางในการหาเพลย์กราวด์ให้นักวิจัยสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเข้าไปช่วยผลักให้นวัตกรรมสามารถไปต่อได้ด้วยการจ่ายส่วนเกินเพื่อให้สามารถผลิตออกมาใช้งานจริง โดยไม่หวังผลกำไร ”

ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนห้องสมุดที่รวบรวมวัสดุเกี่ยวกับการออกแบบ ตกแต่งอาคาร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับนักออกแบบที่ต้องการค้นคว้าหาข้อมูล และจะมีการอัพเดตวัสดุใหม่ตามกระแส เพื่อนำไปใช้ในโครงการ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 รายการ ซึ่งมี ‘โอกาส’ที่เข้าไปอยู่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือMQDCได้หากผู้บริหารโครงการฯ นั้นๆ เลือก ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทมีข้อกำหนดว่า แต่ละโครงการจะต้องใช้ นวัตกรรมก่อสร้างหรือการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 1 รายการเพื่อสร้างต้นแบบของการนำไปใช้ ส่งผลให้เกิดความ‘ตื่นตัว’ในวงการอสังหาริมทรัพย์

ส่วนอีกทางหนึ่งที่ให้ความสำคัญคือการเผยแพร่ความรู้ ผ่านงานเสวนาประจำปีระดับนานาชาติ ในปีนี้จัดงาน “WATS Forum 2019” โดยเชิญนักคิด นักออกแบบและนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง MIT มาร่วมแบ่งปันความรู้ แนวคิดทั้งด้านการออกแบบ การสร้างสถาปัตยกรรม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ต่อจากนี้ไปอีก 5 ปี ศูนย์ริสค์ในไทยจะกลายเป็น‘แหล่งรวม’ของนักวิจัยที่มีองค์ความรู้ด้านสุขภาวะทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 คนกระจายไปทั่วโลก ทำงานวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งไม่จำกัดแค่วงการอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไปยังสามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่่นๆเท่ากับเป็น‘ตัวกลาง’การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคมในประเทศและโลก

“แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคไทยเริ่มตระหนักสิ่งแวดล้อมดีขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ถ้าอยากให้ตื่นตัวมากขึ้น รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนทำวิจัยให้สามารถเป็นไฟแนนเชียล เบนนิฟิท เพราะมนุษย์มักให้ความสำคัญ กับเพอร์ซันแนล เบนนิฟิท ก่อน โซเชียล เบนนิฟิท” รศ.สิงห์ กล่าวทิ้งท้าย