‘บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ’ รับทราบผลการดำเนินงาน

‘บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ’ รับทราบผลการดำเนินงาน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบผลการดำเนินงาน โครงการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

ที่ประชุม รับทราบผลการดำเนินงาน โครงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับการประสานงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้จัดทำโครงการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนรวม 102 เวทีทั่วประเทศ ตั้งแต่ตุลาคม 2561 - มีนาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน กว่า 15,000 คน ช่วยให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยผู้เข้าร่วมเวทีได้วิเคราะห์ประเด็นของพื้นที่ที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติและ 22 ประเด็นการปฏิรูปที่มีความสำคัญเร่งด่วน (Flagship) ของแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขัน ให้มีความสอดคล้องกับประเด็นย่อยเรื่องเกษตรสร้างมูลค่าที่เสนอในเวทีจังหวัดนครปฐม น่าน อุดรธานี สระแก้ว ขณะที่เวทีตราด ชุมพร อำนาจเจริญ มุกดาหาร เสนอประเด็นความหลากหลายด้านท่องเที่ยว เวทีปทุมธานี ราชบุรี สกลนคร พัทลุง เสนอประเด็นอุตสาหกรรมและบริการ

สำหรับเวทีกรุงเทพฯ เสนอประเด็นสังคมเป็นมิตรสภาพภูมิอากาศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประเด็นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวบรวมสรุปประเด็นและข้อคิดเห็นจากทุกเวทีเพื่อส่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ใช้วางแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่ตรงกับความต้องการของประชาชนต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบบทบาทของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการทำงานประสานหน่วยงานที่ทำงานด้านการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน โครงการรวมพลังคนไทย เอาชนะภัยท้องถนน พ.ศ. 2562 - 2563 เนื่องจากที่ผ่านมาอุบัติเหตุทางถนนมีสถิติเพิ่มมากขึ้น และแม้ระดับนโยบายได้กำหนดให้ ปี พ.ศ. 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) ทำให้องค์กรด้านสุขภาพ ร่วมหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกัน ได้แก่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

โดยได้เปิดเวที Road Safety Forum ระดมความเห็นจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มูลนิธิ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาโครงการนี้ขึ้น มุ่งให้เกิดการเชื่อมโยง บูรณาการ และหนุนเสริมการดำเนินงานของกันและกัน โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานทั้งเป้าหมายเชิงนโยบาย มุ่งให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทียุทธศาสตร์ถนนปลอดภัยที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายทางวิชาการ ที่มุ่งให้ได้บทเรียนชุดความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนของพื้นที่รูปธรรม และเป้าหมายเชิงพื้นที่ มุ่งขยายผลตัวอย่างกรณีศึกษาของโครงการและองค์กรที่ดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น กิจกรรม Road Safety ที่กองทุนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการดำเนินงานอยู่ในหลากหลายพื้นที่ หารือกันและพัฒนาแนวคิดการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างพลังการขับเคลื่อนเป็นภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ