กฎหมายขัดกัน ผู้ตรวจฯส่งศาลชี้ขาดสูตรปาร์ตี้ลิสต์

กฎหมายขัดกัน ผู้ตรวจฯส่งศาลชี้ขาดสูตรปาร์ตี้ลิสต์

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" แถลงผลการวินิจฉัยปมคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ชี้ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ม. 128 ขัดรธน.ม.91 พร้อมสั่งยุติเรื่องปมขอให้เลือกตั้งโมฆะ แไม่นับบัตรนิวซีแลนด์เป็นอำนาจ กกต.

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 18 และ 22 เมษายน 2562 และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 และมาตรา 91(4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม และมาตรา 91(4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 83(2) หรือไม่ นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 23(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เห็นว่า

ประเด็นที่ 1 กรณีขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 วรรคสาม มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 91(4) และกรณีมาตรา 91(4) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 83(2) พิจารณาแล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 23(1) บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น

คำว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” หมายถึงกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลบังคับเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อพิจารณาคำร้องเรียนที่ผู้ร้องเรียนที่ 1 อ้างมาข้างต้น เป็นการอ้างว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเอง จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงยุติเรื่องในประเด็นดังกล่าว

ประเด็นที่ 2 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 91 วรรคแรก ได้วางหลักเกณฑ์การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองไว้

ตาม (1) ถึง (5) โดยผลลัพธ์ของการคำนวณต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใด มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ แม้วรรคท้ายของมาตรา 91 จะบัญญัติให้การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม ก็ต้องคิดคำนวณอยู่ในกรอบตามมาตรา 91 วรรคแรกเท่านั้น แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ได้เพิ่มหลักเกณฑ์การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเป็น 8 อนุมาตรา ซึ่งมากกว่าที่มาตรา 91 กำหนดไว้ โดยอนุมาตราที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ (4) (6) (7) ซึ่งต่างไปจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และเพิ่มเนื้อหาตอนท้ายของ (2) ที่ระบุว่า...ให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

“เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้” และยังเพิ่มเนื้อหาตอนท้ายของ (3) ที่ระบุว่า ...ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ “เบื้องต้น” การเพิ่มอนุมาตราและเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเป็นเหตุให้การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 91

ดังนั้น บทบัญญัติ ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังที่ผู้ร้องเรียนทั้งสองกล่าวอ้าง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (1)แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป