'ซีพี' เชื่อมทุนจีน เดินหน้าบุกยึดอีอีซี

'ซีพี' เชื่อมทุนจีน เดินหน้าบุกยึดอีอีซี

สื่อนอกระบุกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นช่องทางให้กลุ่มทุนจีนเข้าลงทุนในอีอีซี พร้อมหนุนรายได้เข้าอาณาจักรธุรกิจมากขึ้น ท่ามกลางข้อกังวลของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมว่า การรุกเข้ามาของกลุ่มทุนจีน สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรและชุมชนในท้องถิ่น

บทวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก ระบุว่า “เอ็กชอ แซ่เจี๋ย” หนีภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่นโจมตีบ้านเกิดทางตอนใต้ของจีนและอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยด้วยการขายเมล็ดผักกับน้องชายเมื่อปี 2464 เมื่อเวลาผ่านไปเกือบศตวรรษ “ธนินทร์ เจียรวนนท์” บุตรชายของเอ็กชอ ที่กลายเป็นเจ้าอาณาจักรธุรกิจใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน

เจ้าสัวธนินทร์ ดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดในไทย มีธุรกิจหลัก คือ อาหารและการเกษตรผ่านบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) รวมทั้งยังมีอื่นหลายประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีกร้านเซเว่น อีเลฟเว่น, ธุรกิจค้าส่งห้างแมคโคร, ธุรกิจโทรคมนาคมในบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ทั้งยังเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในแผนเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีด้วยรถไฟหัวกระสุน เครือข่าย 5 จี และโรงงานผลิตรถอัจฉริยะ

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาอีสเทิร์น ซีบอร์ด และดำเนินมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มการส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว

ระยะแรกจะยกระดับพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

อีอีซีเปิดรับการลงทุนทั้งบริษัทญี่ปุ่นและจีน อย่าง อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง จำกัด และหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ โค โดยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 4.1% เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในอาเซียน แต่การเลือกตั้งทั่วประเทศของไทยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา อาจทำให้โครงการต่างๆ ถูกจับตามองด้วยท่าทีหวาดระแวงมากขึ้น ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังปิดโอกาสเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อเปิดทางให้นักลงทุนชาวจีน

“คนในพื้นที่ถูกลดอันดับหรือความสำคัญไปเป็นพลเมืองชั้นสอง อีอีซี ทำให้เกิดยุคล่าอาณานิคมผ่านทางนโยบายการลงทุนไทย-จีน” สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อีอีซี กล่าว

บทความวิเคราะห์จากเว็บไซต์บลูมเบิร์กชิ้นนี้ ระบุว่า ขณะที่การผลักดันโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักในหลายประเทศ รวมถึง ศรีลังกาและมาเลเซีย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกมองว่าสร้างประโยชน์เพียงเล็กน้อยกับประเทศเจ้าภาพ

ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ประเทศต่างๆ แบกรับหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลทหารของไทยที่ขึ้นมามีอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 กลับเปิดรับไมตรีจากกลุ่มทุนจีนและญี่ปุ่นที่มาพร้อมคำมั่นสัญญาลงทุน 53,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนา 3 จังหวัดชายฝั่งทะเลที่ใกล้กรุงเทพฯ คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

กลุ่มซีพี เป็นช่องทางหลักสำหรับการลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้ โดยกลุ่มร่วมทุนที่นำโดยซีพี ครอบคลุมบริษัทไชนา เรียลเวย์ คอนสตรักชัน คอร์ป (ซีอาร์ซีซี) เป็นผู้ประมูลในราคาต่ำที่สุดมูลค่า 225,000 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายรถไฟความยาว 200 กิโลเมตร เชื่อมสนามบิน 2 แห่งในกรุงเทพฯ กับสนามบินอู่ตะเภา

กลุ่มทุนนี้เข้าร่วมประมูลสร้างสนามบินด้วย แต่การเปลี่ยนรัฐบาลอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับการทำข้อตกลงต่างๆ ในอีอีซี ด้วยความที่ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากที่สุดที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งมาแล้ว พรรคการเมืองทั้ง 7 พรรคไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลทหารพยายามตั้งรัฐบาลผสม ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กำลังหาทางจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าที่ไทยจะได้รัฐบาลใหม่

“รัฐบาลทหารจะยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศต่อไป สถานการณ์จะดูซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตาม” แฮริสัน เฉิง นักวิเคราะห์จากคอนโทรล ริสก์ ให้ความเห็น

สายสัมพันธ์ของซีพีกับอีอีซี มีตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ซีพีประกาศตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในปี 2560 กับบริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ คอร์ปของจีน ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งซีพีร่วมมือกับบริษัทกวางสี คอนสตรักชั่น เอนจิเนียริง กรุ๊ป เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพื้นที่ 3,068 ไร่เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุน

ขณะที่หัวเว่ย กำลังลงทุนด้านการทดสอบเทคโนโลยี 5 จี ในไทย แม้ว่าสหรัฐจะพยายามเรียกร้องประเทศพันธมิตรทั่วโลกให้สกัดกั้นหัวเว่ย ไม่ให้สร้างเครือข่ายอุปกรณ์เคลื่อนที่ยุคต่อไป โดยบริษัททรู คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีพี กำลังสร้างห้องปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) กับหัวเว่ย และใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใช้บริการ 4 จีรายแรกของไทย ขณะที่โฆษกของหัวเว่ย เปิดเผยว่า บริษัทได้รับเชิญให้เข้าร่วมทดสอบ 5 จี จาก สกพอ.

เมื่อปีที่แล้ว แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีโลกชาวจีนและผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีน ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ และทั้งคู่ได้ลงนามสร้างศูนย์กลางดิจิทัลอัจฉริยะที่เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี และอาลีบาบาได้ลงนามข้อตกลงกับ สกพอ.หลายฉบับ

นอกจากนี้ ซีพี ยังเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทแอนท์ ไฟแนนเชียล ของแจ็คหม่า ซึ่งถือหุ้น 20% ในแอสเซนด์ คอร์ป ของไทยเพื่อให้บริการด้านอีวอลเล็ตและให้บริการสินเชื่อรายย่อย ซึ่งการทำข้อตกลงนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี แต่ใช้เครือข่ายของซีพี คือ ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น

2b669b0b5433f752a4e50adc98c3fb4f (1)