CIBA-มธบ. จัดทำหลักสูตรแบบ Active Learning เน้นทักษะรอบด้าน

CIBA-มธบ. จัดทำหลักสูตรแบบ Active Learning เน้นทักษะรอบด้าน

CIBA-มธบ. ปั้นบัณฑิตพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จัดทำหลักสูตรแบบ Active Learning เน้นให้นักศึกษามีทักษะด้าน Technological skills และ Soft Skills รองรับความต้องการตลาดแรงงาน

ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันการศึกษาจึงต้องปรับการเรียนการสอนให้นักศึกษามีทักษะแห่งโลกอนาคตก่อนจบออกไปทำงานในสถานประกอบการหรือออกไปเป็นผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในยุคที่เทคโนโลยี 5G กำลังเข้ามามีบทบาท มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จึงจัดทำหลักสูตรแบบ Active Learning ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาฝึกทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับความต้องการของสถานประกอบการต่างๆ โดยนอกจากการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาต้องมี Technological skills แล้ว ยังเน้นการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในด้าน Soft Skills อาทิ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทักษะการสร้างแรงจูงใจ ทักษะการเจรจาต่อรอง ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ ทักษะการสร้างทีมงาน อีกด้วย

S__9027640

“สำหรับภาคการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทักษะของนักศึกษาในปัจจุบันให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาได้พัฒนาตนเองและมีโอกาสในการได้งานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยนักศึกษาทุกคนที่เรียน ธุรกิจบัณฑิตย์ จะต้องได้เรียนวิชาการ DPU CORE (ดีพียู คอร์) โมเดลการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต เพื่อให้นักศึกษานำความรู้มาประยุกต์ใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานต่างๆ ที่นักศึกษาทำในระหว่างการเรียน และยังเป็นหลักประกันว่าบัณฑิตที่จบออกไปนั้นจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้" ดร.ศิริเดช กล่าว

S__9027642

ดร.ศิริเดช กล่าวย้ำว่า ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เราปลูกฝังทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้นักศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนชั้นปี 1 ในทุกสาขาวิชา ผ่านวิชาในกลุ่ม DPU CORE (ดีพียู คอร์) เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 ในรายวิชาที่เรียกว่า Capstone Projects นักศึกษาจะทำงานเป็นทีม สมาชิกในทีมมาจากต่างสาขาและต่างคณะ เพื่อให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ออกไอเดียและสร้างสรรค์ชิ้นงาน หัวข้อโครงการอาจเกิดจากนักศึกษาเอง หรือจากสถานประกอบการและพันธมิตรในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย และยังได้จัดตั้งสถาบัน DPU X (ดีพียู เอ็กซ์) เพื่อทำหน้าที่บ่มเพาะทีมนักศึกษาเหล่านี้ต่อในโครงการ DPU startup bootcamp เพื่อปั้นไอเดียให้เป็นจริงได้ ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บริษัท และองค์กรต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนจากการสรรหา “คน” ที่มีความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนเป็นการหา “คน” ที่สามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดกระบวนการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น หรือต้องมี Technological skills นั่นเอง