เจดับเบิ้ลยูดี ผนึกยักษ์โลจิสติกส์กิมจิ รุกอาเซียน

เจดับเบิ้ลยูดี ผนึกยักษ์โลจิสติกส์กิมจิ รุกอาเซียน

เจดับเบิ้ลยูดี ทรานฟอร์มธุรกิจบุกโลจิสติกส์ครบวงจร เกาะเทรนด์อีอีซี เจาะอีคอมเมิร์ซชิงส่วนแบ่ง25% พร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจ 9 ประเทศ ผนึกซีเจ โลจิสติกส์ ยักษ์โลจิสติกส์เกาหลี หวังชิงผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจรอาเซียน ปั้น"ฟู้ดซัพพลายเชน"หัวหอกบุกนอก

ธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยยังเนื้อหอมไม่หยุดแม้จะมีผู้เล่นจากต่างชาติ ดาหน้าเข้ามาปักธงไม่ขาดสาย ตั้งแต่ เคอรี่ จากประเทศฮ่องกง ที่เข้ามาทำตลาดในไทยกว่า 10 ปีจนเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจค้าขายออนไลน์ รวมไปถึงผู้เล่นหน้าใหม่ เบสท์ โลจิสติกส์ บริษัทในเครือ อาลีบาบา จากจีน ก็เข้ามาชิมลางรุกพัฒนาโมเดลแฟรนไชส์ให้ท้องถิ่นดูแล ล่าสุด ซีเจ ยักษ์ใหญ่โลจิสติกส์สัญชาติเกาหลี ผนึกพันธมิตรสัญชาติไทย เจดับเบิ้ลยูดี ชิงเค้กส่วนแบ่งจากการบริการอีคอมเมิร์ซที่ยังโตร้อนแรง

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยถึงแผนรุกสู่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรว่า ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจรับมือการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ที่รุนแรงมากขึ้น และอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงจากยุคดิจิทัล (Digital Disruption) ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

โดยได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะบริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร ทั้งในและอาเซียน ให้สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี 2563 คือ ขนส่งและโลจิสติกส์, อีคอมเมิร์ซ, อาหารและเครื่องดื่ม, อาหารเสริมและสุขภาพ, เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงผ่านมายังได้สร้างเครือข่ายกับพันธมิตรในต่างประเทศ 9 ประเทศ ประกอบด้วย เมียนมา, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งการสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญในการขยายช่องทางการพัฒนาธุรกิจธุรกิจและการบริการเข้าสู่กลุ่มประเทศที่เข้าไปสร้างพันธมิตร

“ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงสร้างเครือข่าย ขณะที่ปีนี้เป็นปีแห่งการพัฒนาธุรกิจ สร้างยอดขาย จากเครือข่ายและช่องทางในการเข้าไปร่วมทุน โดยในปีที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท สำหรับซื้อหุ้นในการพัฒนาธุรกิจ 2-3 ดีล มูลค่า 700-800 ล้านบาท และขยายการพัฒนาธุรกิจห้องเย็นอีก 400-500 ล้านบาท"

เขายังกล่าวว่า จิกซอว์สำคัญในการรุกตลาดอาเซียนคือ การผนึกกับ ซีเจ โลจิสติกส์ (CJ Logistics) ธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่จากเกาหลีใต้ โดยปลายปีที่ผ่านมา ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ มีทุนจดทะเบียน2ล้านบาท โดยซีเจ โลจิสติกส์ ประเทศไทย ถือหุ้น51%และเจดับเบิ้ลยูดี ถือหุ้น49% โดยเป็นการร่วมใช้ทรัพยากรและขยายโอกาสการรุกตลาดในอาเซียน ที่ผ่านมาซีเจฯ ยังได้เข้าไปซื้อธุรกิจโลจิสติกส์ Gemadept เบอร์หนึ่งโลจิสติกส์ในเวียดนาม และเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทโลจิสติกส์ในมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่งผลทำให้กลุ่มธุรกิจเจดับเบิ้ลยูดีมีเครือข่ายในการลงทุนใน 3 ประเทศนี้ไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจซีเจฯ ยังลงทุนจุดกระจายสินค้า โดยก่อสร้างคลังสินค้าที่ย่านบางนา กิโลเมตร (กม.) 10 พื้นที่กว่า 71,900 ตารางเมตร(ตร.ม.) ที่จะเปิดบริการในเดือนพ.ค.ปีนี้ พร้อมขยายรถขนส่งกระจายสินค้า 2,000คัน ในปีหน้า รองรับการจัดส่งพัสดุได้มากกว่า 4 แสนชิ้นต่อวัน

เขายังกล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่ทำให้ซีเจฯจากเกาหลีมารุกธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย เพราะได้วิจัยตลาดก่อนเข้ามาลงทุนพบว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีโอกาสเติบโตสูงจากปัจจุบันถึงปีละ 30%ภายใน 10 ปี ข้างหน้า นั่นหมายถึงโอกาสเข้าไปบริการโดยไม่ต้องชิงการแข่งขันกับผู้เล่นในตลาดอยู่แล้ว

สำหรับกลุ่มธุรกิจของเจดับเบิ้ลยูดีี มีทั้งหมด 4 แกนหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจโลจิสติกส์ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ 70% เพิ่มบริการที่หลากหลายเพื่อครอบคลุมบริการครบวงจรรองรับลูกค้าทั้งแบบธุรกิจ(B2B)และลูกค้ารายย่อย (B2C)อาทิ การขนส่งเครื่องจักรกลหนักที่ตอบรับโครงการลงทุนต่างๆ ในอีอีซี

“เราเป็นผู้นำในการบริการธุรกิจ โดยขนส่งในสินค้าเฉพาะขนาดใหญ่ เช่น เคมี,รถยนต์, ธุรกิจห้องเย็น เป็นผู้นำในตลาด” 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบริการขนส่งซื้อสินค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) , บริการSelf-Storage (ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า) ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนก.ค.ปีนี้สำหรับรับฝากของส่วนตัว ของมีค่า สาขาสยาม พื้นที่ 1,300 ตร.ม. และJWD Art Space(บริการจัดเก็บและแสดงงานศิลปะครบวงจร) และยังมีแผนขยายโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์อื่นๆ เช่น การให้บริการท่าเทียบเรือ ปัจจุบันบริษัทฯ เริ่มให้บริการยกขนตู้รถไฟบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

กลุ่ม2ธุรกิจอาหารให้บริการฟู้ดซัพพลายเชนโซลูชั่นส์ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบสำหรับลูกค้า กระบวนการแปรรูปและจัดเตรียมวัตถุดิบพร้อมปรุง อาทิ ผักหั่นฝอย ไข่เหลวบรรจุขวด อบขนมปังและเบเกอรี่ สำหรับกลุ่มลูกค้า Quick Services Restaurants ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ บริการจัดเก็บและกระจายสินค้า รวมทั้งเป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกี่ยวกับอาหารจากทั่วโลก

กลุ่ม3ธุรกิจไอทีใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจมุ่งพัฒนาด้านการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่สำคัญ เพื่อใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางช่วยให้สามารถตัดสินใจในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สามารถพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้า รวมทั้งสร้างให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

กลุ่ม4ธุรกิจอินเวสต์เม้นต์เน้นการลงทุนในอสังหาฯ หรือ กองทุนที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ รวมทั้งการลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต

นายชวนินทร์ กล่าวว่า โครงสร้างธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและเติบโตอย่างมั่นคง หลังจากรุกเข้าไปขยายธุรกิจในอาเซียนครบ9ประเทศตามเป้าหมาย และทิศทางต่อไปขยายบริการฟู้ดซัพพลายเชนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนและไต้หวันโดยรายได้จากต่างประเทศจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% ใน 3 ปีข้างหน้าจากปัจจุบัน 25%

เขายังกล่าวต่อว่า การสร้างเครือข่ายเพื่อตอบสนองการบริการใน 9 ประเทศ เป็นช่องทางสำคัญในการแสวงหาโอกาสในการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายให้กับกลุ่มธุรกิจมีอัตราการเติบโตปีละ 10-20%จากปีที่ผ่านมามีมูลค่า 3,200 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,800 ล้านบาทในปี2562 และเติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นเป็น 7-8,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้า

ด้านนายเอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตในอนาคต มีการขยายธุรกิจอาหาร เป็นหัวหอกในการบุกตลาดประเทศต่างๆ เนื่องจาก  มีพันธมิตรแข็งแกร่งอย่างCSLFซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการซัพพลายเชนอาหารรายใหญ่ของไต้หวันที่มีความเชี่ยวชาญมากว่า30ปี ทำให้สามารถขยายตลาดและสร้างรายได้ทันทีทั้งในอาเซียนและไต้หวัน และยังเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ(ห้องเย็น) ที่มีอยู่ทั่วอาเซียน ขณะที่อาหารเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามเทรนด์โลกด้วยอุปสงค์ - อุปทานของแต่ละพื้นที่