จ่อส่งตัว 'เมาขับ' ช่วงสงกรานต์กว่า 12,000 ราย ดูแลผู้ป่วยติดเตียง

จ่อส่งตัว 'เมาขับ' ช่วงสงกรานต์กว่า 12,000 ราย ดูแลผู้ป่วยติดเตียง

จ่อส่งตัวเมาแล้วขับช่วงสงกรานต์กว่า 12,000 ราย ทำงานบริการสังคม ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง พบแนวโน้มสถิติเยาวชนเมาขับพุ่งสูงขึ้น กรมควบคุมโรคเตือนผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 6 แสนรายทั่วปท.งดขายเหล้าให้เด็ก

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ และนพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงสถิติคดีที่เข้าสู่การคุมประพฤติหลังปิดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11- 17 เม.ย.ที่ผ่านมา

นายประสาร กล่าวว่า คดีขับรถขณะเมาสุรามีจำนวนสูงถึง 12,325 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 2,611 ราย ที่เหลืออยู่ในช่วงอายุแตกต่างกันไป เมื่อแบ่งตามกลุ่มอาชีพ ะบว่าเป็นกลุ่มรับจ้างทั่วไป 5,311 ราย พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะถึง 666 ราย เกษตรกร 1,518 ราย และข้าราชการ 520 ราย บางคนพบว่ามีการทำผิดซ้ำ 236 ราย และพบผู้ที่ทำผิดซ้ำคดีเมาแล้วขับถึง 7 ครั้ง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการกระทำความผิดสูงสุด อยู่ที่ 6,996 คดี จังหวัดที่กระทำผิดสูงสุดคือ มหาสารคาม รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร และสกลนคร ในจำนวนนี้ศาลมีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) 490 ราย และพบว่ายังมีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดสุราจนทำให้ต้องส่งตัวเข้าบำบัดในโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลชุมชน โดยศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ 6 เดือน

นายประสาร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ที่ถูกคุมประพฤติและต้องทำงานบริการสังคมกว่า 10,000 ราย เป็นผู้ที่กระทำผิดในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ส่วนล็อตต่อไปเป็นผู้ที่กระทำความผิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะเริ่มเข้าสู่ระบบคุมประพฤติในช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งมีจำนวนกว่า 12,000 ราย คนกลุ่มนี้จะถูกส่งไปปฏิบัติงานบริการสังคมกับภาคีเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ดูแลผู้ป่วยที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์เมาแล้วขับ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศมีจำนวน 12,810 คดี ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่จากสถิติพบว่าเฉพาะคดีเมาแล้วขับในปี 62 สูงกว่าปี 61 จำนวน 232 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.85 โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนไม่ประมาทในการขับขี่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

น.พ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ผลจากการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ที่เมาแล้วขับจำนวน 5,059 ราย มีรายงานผลว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 1,755 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ทำผิดซ้ำ 236 ราย จากการคัดกรองพฤติกรรม 173 ราย พบผู้มีความเสี่ยงสูง 17 ราย มีความเสี่ยงปานกลาง 115 ราย และมีความเสี่ยงต่ำ 41 ราย ได้ส่งตัวเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลพบว่ากลุ่มมีความเสี่ยงสูง 16 ราย สามารถลดการดื่มลงได้ อย่างไรก็ตาม ทางกรมควบคุมโรคพบว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี มากถึงร้อยละ 40 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิดกว่ากฎหมายกำหนด จึงขอความร่วมมือกับผู้ค้าที่มีใบอนุญาตจำนวน 5-6 แสนรายทั่วประเทศให้ ตระหนักในเรื่องการจำหน่ายสุราให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะผลเสียที่ตามมามีมากกว่ารายได้จากการจำหน่ายสุรา