เปิดฉากประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ

เปิดฉากประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ

เปิดฉากประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ ติดตามความคืบหน้า 13 ประเด็นเศรษฐกิจ

กระทรวงพาณิชย์จัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือเออีเอ็ม (AEM Retreat) ระหว่างวันที่ 22 – 23 เม.ย. นี้ที่โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของอาเซียนครั้งแรกของปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนร่วมกับสมาชิกอาเซียนเพื่อเนินการให้สำเร็จในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ“ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ 1.การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย

2.ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การผลักดันเงินสกุลท้องถิ่น การจัดทำแผนการท่องเที่ยว 3.การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนใ(เออีเอ็ม)ห้การรับรอง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเห็นชอบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซพ(RCEP) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ และ 6 คู่เจรจาคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในบางเรื่องที่ยังติดขัด ซึ่งอาร์เซพ ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งใน 13 ประเด็นที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องการให้เสร็จภายในปีนี้ โดยจะมีการพูดคุยการหารือในที่ประชุมเพื่อขจัดอุปสรรคที่เป็นปัญหา เพื่อให้สมาชิกอาเซียนสามารถมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อไปพูดคุยกับประเทศคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประเทศไทยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซียในฐานะประเทศผู้ประสานงาน เพื่อจัดตั้งการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีการค้าในปีเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงตามแผน

“หากอาร์เซ็ปจบได้ก็ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นทั้งด้านการค้า การลงทุน ทั้งนี้อาร์เซ็ปจะเป็นตัวช่วยสำคัญในด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและผลจากสงครามการค้า” นางอรมน กล่าว

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า จนถึงขณะนี้อาร์เซปสามารถบรรลุข้อตกลงได้ใน 7 บทจาก 20 บท ส่วนที่เหลือ 13 บท เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน และบทกฎหมาย เป็นต้น จะดำเนินการหาข้อยุติจะเสร็จทันภายในปีนี้ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ผู้นำอาเซียนจะเห็นชอบ จากนั้นแต่ละประเทศก็กลับไปทำรายละเอียดแเละจะสามารถลงนามได้ในปีหน้า

ทั้งนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ พบว่า เมื่ออาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์มวลหรือจีดีพีของไทย จะเติบโตอีก 13.5% ในขณะที่การส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีก 14.5% และการนำเข้าจะขยายตัวอีก 13.3%