ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 22-26 เม.ย. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 15-19 เม.ย. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 22-26 เม.ย. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 15-19 เม.ย. 62

ราคาน้ำมันดิบคาดทรงตัว หลังตลาดกังวลรัสเซียอาจไม่ร่วมปรับลดกำลังการผลิตหลังสิ้นสุดข้อตกลงกลางปีนี้

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22–26 เม.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของรัสเซีย หลังรัสเซียส่งสัญญาณที่จะไม่ขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตหลังข้อตกลงจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 62 นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนตัวในระดับสูงและอุปสงค์จากโรงกลั่นในประเทศปรับเพิ่มขึ้นหลังกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากอุปทานที่ยังคงตึงตัวจากความร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร รวมถึงการส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาและอิหร่านที่ปรับตัวลดลงจากผลของมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ประกอบกับ เหตุปะทะในลิเบียที่ยังปะทุอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบที่ตึงตัว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดจับตาเกี่ยวกับการตัดสินใจที่จะไม่ขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย หลังข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตจะยุติลงในเดือน มิ.ย. 62 เนื่องจากรัสเซียต้องการเพิ่มการผลิตเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสหรัฐฯ
  • ตลาดได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 เม.ย. 62 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค โดยซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปคได้ปรับลดกำลังการผลิตสูงสุด โดยในเดือน มี.ค. 62 กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตกลงไว้ที่ระดับ 10.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • การส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาและอิหร่านปรับตัวลดลง หลังถูกกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเฉลี่ยในเดือน เม.ย. 62 ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ หลังมาตรการผ่อนปรนการส่งออกน้ำมันดิบสำหรับบางประเทศจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือน พ.ค. 62
  • เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวลดลง โดยการสู้รบระหว่างกองกำลังของพลเอกคาลีฟา ฮัฟตาร์ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติลิเบีย กับกองกำลังของรัฐบาลลิเบีย ยังคงปะทะกันอย่างหนัก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 120 คน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิตหลังจากหยุดดำเนินการในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 12 เม.ย. 62 ปรับตัวลดลงไปแตะที่ระดับ 455 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง รัฐโอคลาโฮมาปรับตัวลดลง 1.54 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 2 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 0.36 ล้านบาร์เรล
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐฯ (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปี 62 นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 62

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 เม.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.11 ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 64.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 71.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจีนมีการรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 ประกอบกับ อุปสงค์น้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากจีน หลังอัตราการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในจีนเดือน มี.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ไปอยู่ที่ระดับ 12.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ อุปสงค์จากสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น หลังปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากปัจจัยด้านอุปทาน เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่ารัสเซียจะไม่ร่วมปรับลดกำลังการผลิตหลังจากสิ้นสุดข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตในเดือน มิ.ย. 62 นี้ รวมทั้งสหรัฐฯ ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูง