บาหลีแหล่งทำเงินธุรกิจกาแฟนอก-ท้องถิ่น

บาหลีแหล่งทำเงินธุรกิจกาแฟนอก-ท้องถิ่น

เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ขึ้นชื่อเรื่องหาดทรายขาว ท้องทะเลสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ที่วันนี้นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเยือนเพราะความงามตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ได้มนต์เสน่ห์แห่งกาแฟมาช่วยดึงดูดใจอีกทางหนึ่งด้วย

เสียงกดชัตเตอร์ดังระรัว ผู้คนพูดคุยกันอย่างออกรส ที่ยืนเข้าแถวรอสั่งกาแฟก็ยาวเหยียด ภายในร้านอบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น เว็บไซต์แชนเนลนิวส์อาเชีย พาไปสัมผัส “สตาร์บัคส์ เดวาตา” จุดเช็กอินแห่งใหม่ที่กลายเป็นทอล์ค ออฟเดอะทาวน์ล่าสุดในบาหลี

​​​​​​​ร้านกาแฟขนาด 1,850 ตารางเมตรตั้งอยู่ใจกลางเกาะ เป็นร้านสตาร์บัคส์ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เปิดร้านเมื่อเดือน ม.ค. นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวอินโดนีเซียต่างหลั่งไหลมาสัมผัสบรรยากาศด้วยตนเอง

จะว่าไปชาวอินโดนีเซียคุ้นเคยกับกาแฟอยู่แล้วตั้งแต่เนเธอร์แลนด์นำมาปลูกเมื่อหลายศตวรรษก่อน ความสัมพันธ์อันยาวนานสร้างรากฐานให้เกิดวัฒนธรรมกาแฟอันแข็งแกร่งและโดดเด่นของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ ถึงวันนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกาแฟรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

ขณะที่คนอินโดฯ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกาแฟในฐานะนักดื่มเท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มมีเทรนด์ใหม่ของผู้ที่หลงไหลศิลปะแห่งกาแฟ ตัวอย่างเช่น บรรยากาศกาแฟที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาในบาหลี เมื่อเครือร้านกาแฟใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ผงาดขึ้นมา ขณะที่ธุรกิจกาแฟท้องถิ่นและร้านกาแฟดั้งเดิมก็สร้างลูกค้ากลุ่มของตนไปเรื่อยๆ

สตาร์บัคส์ เดวาตา เรียกตนเองว่า“Coffee Sanctuary” บอกเล่าการเดินทางของกาแฟตั้งแต่เมล็ดจนถึงถ้วย "แดเนียล เคอร์" ผู้จัดการทั่วไปของสตาร์บัคส์ย้ำว่า ที่นี่ให้ความรู้ ความบันเทิง และทำให้ผู้มาเยือนได้ประสบการณ์การเดินทางของกาแฟ

ระยะหลังความสนใจที่ชาวอินโดฯ มีต่อกาแฟได้พัฒนาขึ้น จากแค่เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ทวีความซับซ้อนมาเป็น “ช่างฝีมือ” เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้กับแบรนด์ท้องถิ่นที่เป็นผู้นำในการผลิตกาแฟอย่างมีศิลปะ

ตัวอย่างของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแบรนด์หนึ่ง เช่น อโนมาลีคอฟฟี่ ก่อตั้งโดยสองหนุ่มอินโดฯ เมื่อปี 2550 จนได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่างผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟในอินโดนีเซีย ด้วยภารกิจส่งเสริมและรักษาความเชี่ยวชาญด้านกาแฟของประเทศเอาไว้

เชนกาแฟท้องถิ่นรายนี้เดิมทีนิยมกันอยู่แค่ในกรุงจาการ์ตา ต่อมาก็สยายปีกไปยังบาหลีอย่างรวดเร็ว เปิดสองสาขาในอูบุดและคูตา "โรนี คุนโคโร" บล็อกเกอร์ในอูบุด เป็นลูกค้ารายหนึ่งที่มาดื่มบ่อย แม้ว่าเขาอุดหนุนหลายร้าน แต่อโนมาลียังคงเป็นร้านโปรด

“กาแฟ (อินโดนีเซีย) ของเราหอมกว่า นอกจากนี้ร้านอโนมาลีในอูบุดยังใหญ่ ผมมานั่งคุยกับเพื่อนแบบสบายๆ ผมชอบอโนมาลีเพราะคุณภาพของกาแฟที่รสชาติดีกว่า แถมยังถูกกว่าร้านข้างๆ” บล็อกเกอร์เจ้าถิ่นอธิบาย

อูมะโกปี  เป็นร้านกาแฟท้องถิ่นอีกร้านที่เล็กกว่าอโนมาลี ดำเนินการโดยชาวบาหลีชายหญิง งูราห์ ดี ปุตรา และอเล็กซานดรา เทวี อูมะโกปี มีแนวคิดอนุรักษ์กาแฟอินโดนีเซียท้องถิ่นภายใต้บรรยากาศแบบบาหลี

ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของอโนมาลีเป็นคนท้องถิ่น แต่ลูกค้าหลักของอูมะโกปีเป็นชาวต่างชาติ เพราะตั้งอยู่ในย่านเซมินยะ อันโดดเด่นบนเกาะบาหลี

“ย่านนี้เต็มไปด้วยร้านกาแฟและร้านอาหารสมัยใหม่เอาใจนักเดินทางชาวเมือง เรามั่นใจว่าเมื่อมีอูมะโกปีก็ช่วยเพิ่มความหลากหลายได้อีก” อเล็กซานดรากล่าว เธอรู้ดีว่า ร้านของเธอแข่งกับผู้เล่นรายใหญ่ไม่ได้ “แต่เราก็ไม่หวั่น เพราะกาแฟเป็นเรื่องของรสชาติและประสบการณ์ ในทัศนะของเราเชนใหญ่ทำธุรกิจกาแฟอย่างเดียว ผิดกับเราที่ใส่จิตวิญญาณลงไปในกาแฟด้วย”

นอกจากเชนกาแฟต่างชาติและบูติกคาเฟ่จะเปิดเป็นดอกเห็ด แผงลอยกาแฟเล็กๆ ที่เรียกว่า วาโกบ (มาจากคำว่า วารังโกปี) ก็ยังเดินหน้าบริการกับลูกค้าท้องถิ่นอย่างไม่หวั่นเกรง

บีเนกา ดีจาจา ในย่านเมืองเก่าของเดนปาซาร์ เมืองเอกบนเกาะบาหลี ผลิตและขายกาแฟมาตั้งแต่ปี 2478 ยุคอาณานิคมดัตช์ ถือเป็นหนึ่งในร้านเก่าแก่ที่สุดบนเกาะ ลูกค้าท้องถิ่นยังอุดหนุนต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยกาแฟอินโดนีเซียราคาไม่แพง แก้วละเพียง 10,000 รูเปี๊ยะห์ หรือราว 1 ดอลลาร์เท่านั้น

เครื่องมือชงกาแฟแบบโบราณผนวกกับการตกแต่งร้านแบบง่ายๆ ชวนให้หวนคิดถึงอดีต เป็นตัวดึงลูกค้าได้ดีทีเดียว

“คนอินโดฯ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเงิน แต่มีเวลาว่างเยอะ เราจึงต้องขายกาแฟท้องถิ่นในถ้วยใหญ่ๆ แต่ราคาถูกมาก ลูกค้าสามารถนั่งจิบและคุยกันได้นานๆ โดยไม่ต้องจ่ายแพง” อารี วิคายานา ผู้จัดการร้านอธิบายเหตุผลพร้อมเสริม “อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชุมชนมากมาย และผู้คนก็ชอบนั่งคุยกัน นั่นจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผม”

ธุรกิจกาแฟตามวิธีคิดแบบท้องถิ่นอย่างอูมะโกปีและบีเนกา ดีจาจา อาจเป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมกาแฟอินโดนีเซีย ขณะที่โครงการริเริ่มของสตาร์บัคส์ เช่น ให้การศึกษามวลชน ร่วมมือกับเกษตรกรไร่กาแฟและธุรกิจท้องถิ่น มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสบการณ์กาแฟเชิงลึก ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมเติบโตทั้งสิ้น

จึงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่า ร้านกาแฟอินโดนีเซียค่อนข้างอยู่รอดปลอดภัยแม้เชนต่างชาติกำลังรุกหนัก ธุรกิจยังคงเติบโตต่อไปตราบเท่าที่ชาวอินโดนีเซียยังคงมีความสุขกับการนั่งคุยเพลินๆในวงกาแฟ