ปัญหาขาดแคลนหมูในจีนส่อดันราคาเนื้อหมูโลกพุ่ง

ปัญหาขาดแคลนหมูในจีนส่อดันราคาเนื้อหมูโลกพุ่ง

เกษตรกรที่มีฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดกลางและขนาดเล็กไม่กล้าที่จะเปิดเผยว่าหมูในฟาร์มติดเชื้อไวรัสร้ายแรง เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ หรือรายได้ที่เคยได้รับ จึงทำให้ภาพรวมของตลาดเนื้อหมูในจีนไม่มีความชัดเจนในสายตาบุคคลภายนอก

ไข้หวัดหมูแอฟริกันที่แพร่ระบาดอย่างหนักในจีน ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเนื้อหมู่รายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มลุกลามเข้าไปในประเทศต่างๆของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางพื้นที่ของยุโรป ซึ่งนักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระ มีความเห็นว่า หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ จะทำให้ราคาเนื้อหมูทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในจีนราคาเนื้อหมูจะเพิ่มขึ้น 78% ภายในปี 2563 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561

การแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกัน นอกจากจะทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ราคาเนื้อประเภทอื่นพลอยปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย ในฐานะเป็นแหล่งโปรตีนของโลกที่สามารถหาซื้อได้ และขณะที่คาดว่าราคาเนื้อหมูในจีนจะเพิ่มขึ้นกว่า70% ในปีหน้านั้น ประชากรหมูก็จะลดลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และกว่าที่อัตราการผลิตเนื้อหมูในจีนจะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้งก็ประมาณปี 2564 หรือ 2565

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่ไข้หวัดหมูแอฟริกัน ซึ่งติดต่อในหมูแต่ไม่ติดต่อในคน เริ่มลุกลามไปยังพื้นที่อื่นนอกเหนือจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่สุดของโลก จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเนื้อหมูขาดตลาดทั่วโลกได้  ที่สำคัญที่สุดคือ ภาวะขาดแคลนจะยิ่งดันให้ราคาเนื้อหมูในตลาดโลกทะยานยิ่งขึ้นไปอีก

คาดว่าในจีนราคาเนื้อหมูอาจจะมีราคาที่กิโลกรัมละ33 หยวน (4.90 ดอลลาร์)ในเดือนมกราคมปี 2563 จากราคากิโลกรัมละ 18.5 หยวนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปรับตัวขึ้นประมาณ 78%

ด้านสำนักงานศุลกากรของจีน มีคำสั่งห้ามนำเข้าสุกร หมูป่า และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากเวียดนาม หลังจากมีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดหมูแอฟริกันในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนาม และกรุงฮานอย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 มีนาคม

จีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคและผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก พยายามหาทางควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต้นตอของไข้หวัดหมูแอฟริกันมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มพบการติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งทางการจีนเปิดเผยว่า กำจัดหมูไปแล้วหลายแสนตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดนอกจากนี้ ยังควบคุมการเคลื่อนย้ายหมูจากพื้นที่ที่พบการระบาดด้วย

ขณะที่บริษัทซานกวนฟู้ด ซึ่งมีสำนักงานในมณฑลเหอหนาน ตอนกลางของประเทศจีน ออกแถลงการณ์ยืนยันรายงานของสื่อมวลชนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า พบเกี๊ยวหมูปนเปื้อนเชื้อไวรัสใน 2 มณฑลที่ไม่ได้อยู่ติดกัน และกำลังประสานอย่างใกล้ชิดกับทางการ แต่ยังไม่ได้ออกประกาศเรียกคืน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ยังไม่ได้รับยืนยันด้วยว่า พบเชื้อไวรัสดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทอื่นๆ ด้วย ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูแอฟริกันไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เป็นอันตรายต่อหมูและทำให้อุตสาหกรรมเนื้อหมูขนาดใหญ่ของประเทศวิตกกังวล จนส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทซานกวนดิ่งลง 2.25%

นักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกัน เกษตรกรจีนเผชิญหน้ากับ“วงจรหมู”หรือการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายแรงตัวนี้มาแล้วสามครั้งด้วยกัน และได้เห็นการปรับตัวขึ้นของราคาเนื้อหมูมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ ราคาเนื้อหมูอาจจะทะยานมากกว่าทุกครั้ง เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในจีนไม่กล้าเลี้ยงหมูเพิ่มเพราะยังไม่มั่นใจว่าหมูที่เลี้ยงจะไม่ติดเชื้อไข้หวัดหมูแอฟริกัน ถ้าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ “วงจรหมู”อาจจะกินเวลายาวนานและราคาเนื้อหมูจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วง“วงจรหมู”ทุกครั้งที่ผ่านมา

ตั้งแต่พบการแพร่ระบาดเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2561 ไวรัสไข้หวัดหมูแอฟริกันก็แพร่ระบาดลามไปแทบทุกมณฑลของจีนที่มีฟาร์มเลี้ยงหมู และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนเปิดเผยว่าฆ่าหมูไปกว่า1ล้านตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสอันตรายตัวนี้

แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองต่างออกไปในเรื่องของตัวเลขหมูที่จีนอ้างว่าฆ่าทิ้งไปกว่า 1 ล้านตัว โดยนักวิเคราะห์จากราโบแบงก์ ธนาคารสัญชาติเนเธอร์แลนด์ คาดการณ์จำนวนหมูที่ถูกฆ่าอาจจะสูงกว่านี้ พร้อมทั้งกล่าวว่า ไม่มีใครรู้ว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกันในจีน เป็นสถานการณ์รุนแรงแค่ไหน เพราะรัฐบาลจีนเองก็ให้ความสำคัญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกันน้อยมาก