กบง.ห่วงลอยตัว 'เอ็นจีวี' ราคาพุ่ง6.21บ./กก.

กบง.ห่วงลอยตัว 'เอ็นจีวี' ราคาพุ่ง6.21บ./กก.

กบง.ถกรับมือลอยตัว “เอ็นจีวี” เริ่ม 16 พ.ค.นี้ หวั่นราคาพุ่ง 6.21 บ./กก. สั่งร่อนหนังสือถึง ปตท.ทยอยปรับขึ้นราคา ช่วยลดภาระค่าโดยสาร จ่อหารือกรมสรรพสามิต ลดภาษีดีเซล หนุนปรับสเปคบี10

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้(19 เม.ย.) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้หารือกรณีมติ กบง.เดิม ที่กำหนดให้มีการลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ตามกลไกตลาด ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป

โดยที่ประชุมฯ มีข้อกังวลว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อบริการขนส่งสาธารณะ เช่น ค่าโดยสารของประชาชน โดยเฉพาะเมล์และรถตู้สาธารณะ ประกอบกับในวันที่ 22 เม.ย. 2562 กระทรวงคมนาคมประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบได้

ดังนั้น กบง.เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานทำหนังสือถึง บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อขอความร่วมมือให้ทยอยปรับขึ้นราคา NGV นับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 เพราะหากปรับขึ้นครั้งเดียวในราคา 6.21 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ราคา NGV ขยับไปแตะ 16.83 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันนี้(19 เม.ย.) ทางกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ทยอยปรับขึ้นราคา NGV ไปถึง ปตท.แล้ว เพื่อให้พิจารณาปรับขึ้นราคาให้เหมาะสมเพื่อบรรเทาภาระค่าโดยสารให้กับประชาชน เช่น การขึ้นราคาเพียงครึ่งเดียวก่อน หรือ ประมาณกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

นอกจากนี้ กบง.ยังหารือถึงมาตรการจูงใจการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) ก่อนจะที่ประกาศให้จำหน่ายได้จริงเป็นครั้งแรกในไทย โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรใช้มาตรการจูงใจด้านราคา ด้วยการจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปัจจุบัน หรือ ไบโอดีเซล B7(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) ในอัตรา 1 บาทต่อลิตร ซึ่งการลดราคาดังกล่าวจะต้องมาจาก 2 ส่วนคือ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน

เบื้องต้น กระทรวงพลังงานจะทำหนังสือถึงกรมสรรพสามิตให้พิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง จากปัจจุบันเก็บอยู่ 5.98 บาทต่อลิตร โดยจะเสนออัตราที่ควรปรับลดในอัตราไม่กี่สตางค์เท่านั้น ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อกรมสรรพสามิตเห็นชอบลดภาษีน้ำมันแล้ว จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อน จากนั้น กบง.จะพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุนเพื่อให้ราคาจำหน่ายลดต่ำกว่าบี7 รวม 1 บาทต่อลิตรต่อไป