12คัมภีร์“ประทีป” พลิกตำนาน 30 ปีศุภาลัย

12คัมภีร์“ประทีป” พลิกตำนาน 30 ปีศุภาลัย

เปิดตำนาน“ประทีป ตั้งมติธรรม” บนสมรภูมิอสังหาฯ 42 ปี จากสถาปนิก สู่นักพัฒนาฯ ใช้เวลา 30 ปีปลุกปั้นศุภาลัย ด้วย 12 คัมภีร์ เคล็ดไม่ลับ เพิ่มพลังธุรกิจ รุกเร็ว โตไว ต้นทุนต่ำ ยืดหยุ่นตามยุคสมัย

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนผู้เล่นตามตามวัฎจักรเวียนกันเข้ามาพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะยุคฟองสบู่อสังหาฯปี 2540 แต่ก็มีไม่กี่รายที่รอดปากเหยี่ยวปากกาในวิกฤติฟองสบู่ครานั้นมาได้ 

ศุภาลัย คือ หนึ่งในนั้น !!

ณ แกรนด์ ศุภาลัย ทาวเวอร์ เป็นสถานที่ ที่กรุงเทพธุรกิจ BizWeek  นัดพบกับ ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บุรุษผู้เก๋าเกมอสังหาฯผู้นี้ ไขรหัส” ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ก่อร่างสร้างธุรกิจจนถึงปัจจุบัน ประทีป คร่ำหวอดในเส้นทางธุรกิจอสังหาฯ มากว่า 42 ปี เขาคือ นักธุรกิจหัวใจสถาปนิก รักการถ่ายภาพ ออกแบบ ผ่านจุดพลิกผันชีวิตในวัยเยาว์ เมื่อพ่อเสาหลักของครอบครัวจากไปจากอุบัติเหตุ 

รอยต่อของชีวิตที่ทำให้เขาซึมซับความลำบาก จนแกร่งพอที่จะผลักดันตัวเองได้ทุนเรียนปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ (MBA) ในสหรัฐอเมริกา กระทั่งจบมาช่วยกิจการพี่ชาย (ชวน ตั้งมติธรรม) คุมงานออกแบบและก่อสร้างบ้าน และงานขาย ภายใต้บริษัทบ้านมั่นคงเคหะการ จำกัด เป็นเวลา12 ปี ก่อนแยกตัวมาตั้งบริษัทศุภาลัย จำกัด ในปี 2532 (แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2535) จากแนวคิดที่กล้า ท้าทายมากกว่าพี่ชายที่ชอบเดินธุรกิจอย่างอนุรักษ์นิยม(Conservative) มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด

ประทีป เผยว่า ผลการดำเนินงานศุภาลัย 5 ปี ย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2557-2561) เติบโตโดดเด่น เมื่อเทียบกันกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของ 8 บริษัทอสังหาฯชั้นนำของไทย ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ !  

โดยมีกำไรขั้นต้น (GPM-Gross Profit Margin) ขยายตัว 39% ขณะที่ 8 บริษัทอสังหาฯชั้นนำ ขยายตัว 34%, กำไรสุทธิ/รายรับ ขยายตัว 22% กลุ่ม 8 บริษัทอสังหาฯชั้นนำ ขยายตัว 15% 

หนี้สินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย /ส่วนผู้ถือหุ้น ขยายตัว 71% กลุ่ม 8 บริษัทอสังหาฯชั้นนำ ขยายตัว 92% ,ด้านค่าใช้จ่ายการขาย/การบริหาร ขยายตัว 11% ส่วนกลุ่ม 8 บริษัทอสังหาฯชั้นนำ ขยายตัว 17%

เทียบ 5 ปีย้อนหลัง ผมไม่ได้บอกว่าผลประกอบการดีที่สุดในปีใดปีหนึ่ง แต่เฉลี่ย 5 ปีแล้ว เราดีที่สุด" เขาพูดพร้อมรอยยิ้ม 

ขณะที่ในปี 2562 ยังมีเป้าหมายเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง เปิดตัวโครงการใหม่ 34 โครงการ มูลค่า 40,000 ล้านบาท ขยายตัวถึง 54% เมื่อเทียบกันกับปีที่ผ่านมา ที่เปิดตัวโคงการ 25 โครงการ มูลค่า 25,980 ล้านบาท แม้ใครๆจะบอกว่าธุรกิจอสังหาฯปี 2562 ปราบเซียนแค่ไหน ก็ตาม 

@12คัมภีร์ธุรกิจ ฉบับศุภาลัย

ในปี 2562 ยังครบวาระ ที่“ศุภาลัย”ดำเนินธุรกิจครบ 30 ปี ถือเป็นการสร้างตำนานธุรกิจบทใหม่ที่เขียนธุรกิจด้วยตัวเอง โดยเผยเคล็ดลับธุรกิจ ที่ตกผลึกในช่วง 3 ทศวรรษ  แตกออกเป็น 12 เคล็ดลับ ในแบบฉบับศุภาลัย (Supalai ‘s Value Creation)

1.มีระบบการทำงานมาตรฐานตามISO 9001 :2008 ซึ่งน้อยรายมากที่จะมีอสังหาฯในเมืองไทยนำระบบนี้มาใช้ หรือหากใช้ก็นำมาใช้เพียงบางส่วน ประทีปเผย แต่สำหรับศุภาลัยนำระบบนี้มาใช้อย่างครอบคลุม เพื่อให้พนักงานมีธงนำ ยึดหลักบริหารจัดการทำงานตามมาตรฐานสากล สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

2.ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Oriented) เขาเล่าว่า ทุกโครงการจะวางเป้าหมายลูกค้าในแต่ละทำเล และออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการผู้อยู่อาศัยจริง มาก่อนนักลงทุน หรือนักเก็งกำไร

“ก่อนออกแบบจะต้องเข้าใจความต้องการลูกค้า คิดอะไร ชอบอะไรไม่ชอบอะไร มีการวิจัยพื้นที่สำรวจความต้องการลูกค้า(เซอร์เวย์) ความต้องการของลูกค้าเป็นหลักทั้งก่อนและหลัง เปิดตัวโครงการ ประเมินความพึงพอใจเพื่อไปปรับใช้ ”

3.ยึดหลักประหยัดพลังงาน (Energy Saving) ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ที่เน้นการออกแบบประหยัดพลังงาน ทุกโครงการสามารถช่วยให้ลูกค้าประหยัดพลังานได้ 26-30% ของค่าไฟที่ต้องจ่ายประมาณ 8,000-12,000 บาทต่อปี หรือโดยรวมมูลค่าต้นทุนถูกลงหลังละ 1 แสนบาท จึงเป็นมูลค่าเพิ่มที่ดึงดูดให้โครงการน่าสนใจ ภายใต้ทำเล ราคา และขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกัน 

โดยมีตึก แกรนด์ ศุภาลัย ทาวเวอร์ ตึกรูปวงรี เป็นต้นแบบประหยัดพลังงานของตึกสูงแรกๆ ในประเทศ

4.ออกแบบใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สูญเสียพื้นที่น้อยที่สุด (Efficient Design) จึงทำห้องใหญ่ที่เหมาะสมอยู่ได้จริง คอนโดขนาดเล็กที่สุดที่ทำคือ 28ตารางเมตร(ตร.ม.) เน้น ห้องนอนใหญ่ขึ้น ทางเดินน้อยลง ลูกค้าได้ประโยชน์

5.ยึดหลักคุณค่าทางหลักวิศวกรรม (Value Engineering) มีการพัฒนารูปแบบพัฒนาโครงการตามหลักวิศวกรรม ให้ดีขึ้น โดยมีนวัตกรรมในการออกแบบ ก่อสร้างตลอดเวลา

6.ความได้เปรียบในเชิงปริมาณทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ (Economy of scale ) โดยนำการบริหารจัดการตามหลักเศรษศาสตร์ มาพัฒนาโครงการ 150 โครงการทั่วประเทศ ส่งผลให้การใช้แบบบ้าน และวัสดุ มีต้นทุนที่ถูกลง จึงขายถูกว่าคนอื่น 15-20% เพราะเหมือนซื้อของส่งจำนวนมาก 

7.คำนึงถึงความประหยัด ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง (Cost-conscious culture) ระบบบการทำงานประหยัดในทุกแผนกในกลุ่มธุรกิจเพื่อช่วยลดต้นทุน เช่น ผู้บริหารบินไปตรวจงานต่างจังหวัด หรือ บินเส้นทางระยะสั้นในภูมิภาค จะนั่งเครื่องบินชั้นประหยัด (Economy)

ผมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง นั่งชั้นประหยัดกับพนักงานทำให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนใส่ใจเรื่องต้นทุน ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย

8.จัดตั้งทีมวัสดุและอุปกรณ์ในบริษัท (Direct procurement) กระบวนการจัดซื้อทุกอย่างบริหารจัดการโปร่งใส ตั้งแต่เหล็ก สุขภัณฑ์ และกระเบื้อง เป็นต้น  “1 ปี ประหยัดปีละ 100-200ล้านบาท” เจ้าตัวเผย

9.การบริหารโครงการ (Project management) บริหารก่อสร้าง บริหารโครงการอย่างเป็นระบบ

10.พัฒนาทีมบริหารงานภายในอย่างมืออาชีพ ทุกด้าน (In-house Professionals) มีทีมบริหารจัดการเองทุกด้าน ตั้งแต่สถาปนิก ก่อสร้าง จัดซื้อ จัดจ้าง ออกแบบและการตลาด  นอกจากโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องแข่งขันกับเวิลด์คลาส จึงว่าจ้างภายนอก (Outsource) เช่น ศุภาลัย ไอคอน สาทร หรือ ทำตลาดต่างประเทศ ต้องใช้เอเจนซี

เขามองว่า กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จะเฉือนคมกันก็ตรงที่ หากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) หรือ ผู้บริหาร มีความรู้ด้านการออกแบบ เช่น สตีฟ จ็อบส์ ที่นอกจากนั่งทำตำแหน่งซีอีโอแล้วยังนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการออกแบบ (ซีดีโอ) เป็นกุญแจที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเติบโต

11.การเข้าไปจัดซื้อที่ดินเชิงรุก (Proactive Land Purchase) มีวิธีการจัดซื้อ จัดหาที่ดินราคาถูก รวดเร็ว จากหลากหลายช่องทาง ประกาศติดราคา เอเจนซี การประมูล โดยมีกระบวนนการคำนวณจุดคุ้มทุนตัดสินใจได้ ภายใน 1 วัน

“เราซื้อทุกรูปแบบ ประมูล ประกาศ หรือผ่านเอเจนซี มีการออกแบบวิธีการคำนวณการวิเคราะห์ต้นทุนที่ดินต่อการพัฒนาโครงการใน 1 หน้ากระดาษ (1 Page Analysis) จนออกแบบโปรแกรมการคำนวณที่ดินได้ภายใน 1 วัน แบบแม่นยำ ที่ดิน และการก่อสร้างต้องแม่น เมื่อมีใครร้อนเงินมาเจอ ปิดการขายได้เลยภายในวันเดียว หากทำเลดีคุยกันไม่เกิน 10 นาที "

อีกมิติหนึ่งที่ศุภาลัยสร้างความฮือฮา ให้กับวงการอสังหาฯอยู่เสมอ คือกล้าเข้าไปชิงประมูลที่ดินแปลงงาม ทั้งที่อสังหาฯรายใหญ่บางรายยังเมิน อาทิ ปี 2551 เข้าไปประมูลที่ดินผืนใหญ่ ติดริมน้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 14 ไร่ มูลค่า 571 ล้านบาท หรือตารางวา(ตร.ว.)ละ1 แสนบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของธนาคารกรุงไทย มาพัฒนาเป็นโครงการ "ศุภาลัย ริวา แกรนด์(Supalai Riva Grande)” มูลค่าโครงการ 6,800 ล้านบาท เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2558

ที่ดินอีกแห่ง ย่านรามคำแหง เนื้อที่ 15 ไร่ ติดกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่กำลังจะสร้าง ด้านหน้าติดกับสถานีตำรวจและการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ด้านหลัง ทะลุออกถนนกรุงเทพกรีฑา เส้นทางขึ้นทางด่วนไปสายตะวันออก ซื้อที่ดินโดยการประมูลมาในราคา 1.7 แสนบาทต่อตร.ว. พัฒนาโครงการ “ศุภาลัย เวอเรนด้า รามคำแหง” มูลค่า 6,000 ล้านบาท 2,073 ยูนิต

ล่าสุด ที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย เนื้อที่ 7 ไร่ ย่านสาทร ที่ชนะการประมูลมูลค่า รวม 4,600 ล้านบาท หรือ 1.45 ล้านบาทต่อตร.ว.ในปี 2560 พัฒนาโครงการ ศุภาลัย ไอคอน สาทร ที่จะเปิดตัวในวันที่ 26 เม.ย. 2562 นี้

“เราไปประมูลหลายแห่ง ที่สถานทูตออสเตรเลีย แม้แต่รายใหญ่ในตลาดยังไม่ยื่น เพราะคิดว่าราคาเกือบ 2 ล้านบาทต่อตร.ว.หรือบางคนให้ราคาต่ำไป 1.2 ล้านบาทต่อตร.ว.มีบางรายที่ให้ราคาสูงกว่าศุภาลัย แต่ไม่ชนะการประมูลเพราะติดปัญหาความมั่นคงทางการเงิน ที่จะต้องวางเงินมัดจำ”

ซีอีโอศุภาลัย ยังระบุว่า การทำตลาดอสังหาฯสิ่งสำคัญ ต้องอ่านตลาดขาด เข้าใจว่าโอกาสไหน ควรรุก หรือจุดไหนเสี่ยง ควรถอย อีกทั้งต้องมีฐานะการเงินที่ดี จึงจะเข้าไปชิงที่ดินทำเลทองได้ โดยบริษัทได้เครดิตระดับ A จากทริสเรทติ้ง ซึ่งกลุ่มธุรกิจอสังหาฯมีเพียง 3 รายที่ได้รับคือ แลนด์แอนด์เฮาส์, พฤกษา และ ศุภาลัย

ทำอสังหาฯมา 30 ปีพัฒนามากว่า 200 โครงการ ไม่เคยมีโครงการไหนขาดทุน แสดงว่าหลักวิเคราะห์ถูกทาง กล้าตัดสินใจบนสายกลาง ไม่เสี่ยงซื้อที่ดินแพงโดด และทำตัวเองให้แข็งแรงทางการเงิน จะกินอะไรก็กินได้ เทียบกับรายอื่นที่ซื้อที่ดินไปเยอะเหมือนกินข้าวจนอิ่ม หากซื้อที่ดินมูลค่าสูงมาก กินจนอิ่มสองสามจาน พอจะกินจานที่สี่ก็อิ่มแล้วเพราะอาจหมดตังค์ การมีฐานะการเงินแข็งแกร่งจึงทำให้ศุภาลัย ยังกินได้ต่อ ซุ่มซื้อที่ดินเก็บไว้ มีที่ดินเก็บไว้พัฒนาได้นานถึง 4 ปี” เขาเล่า 

ส่วนเคล็ดลับสุดท้ายคือ 12.การเคลื่อนไหวทางธุรกิจด้วยพลัง และยืดหยุ่น (Dynamic & Flexible) สองสิ่งนี้ต้องสอดแทรกเป็นวัฒนธรรมองค์กร ทุกคนทำงานด้วยความรวดเร็ว ผลักดันองค์กรให้ไปข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ศุภาลัยจึงนิยามตัวเองเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ ที่ทำทุกรูปแบบทั้งบ้านเดี่ยว บ้านจัดสรรและคอนโด รวมถึงล่าสุดโครงการมิกซ์ยูส สาทร

หากหัวขบวนคล่องตัวรวดเร็ว ยืดหยุ่น ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง กลางลำตัวและส่วนท้ายก็เคลื่อนตาม เมื่อยุคตลาดต้องการแบบไหนก็พร้อมปรับเปลี่ยนสินค้าให้สอคดล้องกันกับรสนิยม

เขามองเสริมด้วยว่า ทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมาทำให้ประหยัดงบได้ถึงข้อละ 100 ล้านบาทต่อปี นับรวมกันครบทั้ง 12 ข้อจึงช่วยประหยัดงบประมาณได้กว่า 1,000 ล้านบาท นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงแข่งขันได้ในตลาดกับระดับโครงการที่ใกล้เคียงกัน ศุภาลัยจะขายถูกกว่าเสมอ ในปี 2561 โครงการเปิดตัวเฉลี่ยแตะ 100,000 บาทต่อตร.ม. แต่ศุภาลัยทำราคาเฉลี่ยได้ 7-80,000 บาทต่อตร.ม.

--------------------------------

แผน5ปีรุกภูธร-ต่างประเทศ” 

“ประทีป ตั้งมติธรรม”ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ยังเผนแผนในช่วง 5 ปีจากนี้ (2562-2566) ว่า  ศุภาลัยซุ่มซื้อที่ดินเก็บไว้ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด โดยรวม 20 จังหวัด ที่ปัจจุบันพัฒนาโครงการแล้ว 16 จังหวัด กว่า 150 โครงการ ต่างจังหวัด 80 โครงการ สัดส่วนมูลค่า 27% ของยอดขายในกลุ่มธุรกิจ ยังเหลืออีก 4 จังหวัดที่ต้องไปปักธง รวมถึงขยายพื้นที่ใหม่ในทำเลเมืองรอง อาทิ ฉะเชิงเทรา, ลำพูน, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี

ไปต่างจังหวัด เพราะพบว่ามีดีมานด์เติบโตมาก หลายคนไปต่างจังหวัดแล้วกลับมาไม่สำเร็จ ไม่ทำต่อเนื่อง แต่เราไปต่างจังหวัดแล้วขยายต่อเนื่อง เพื่อรองรับหากกรุงเทพฯ อิ่มตัว หรือดีมานด์ลดลง

ขณะเดียวกัน ยังเริ่มไปลงทุนต่างประเทศ ในออสเตรเลีย 4 โครงการ คือ บ้านพักริมทะเล 1 โครงการ โครงการบ้านจัดสรรที่ดิน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 20,000 ล้านบาท ศุภาลัยเข้าไปร่วมทุน 3,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 เริ่มขยายไปในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กำลังเข้าไปศึกษา โดยกำหนดมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศ 10% ของงบลงทุนรวม ภายใน 3-5 ปี ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศอยู่ที่ 5% ของกำไรในปี 2561 ที่อยู่ที่ 5,700 ล้านบาท จากรายได้ 25,180 ล้านบาท

ประทีป ยังทิ้งท้ายถึงสูตรบริหารคนภายในองค์กรว่า จะต้องมีสายงานสั้นที่สุด เพื่อให้อนุมัติตัดสินใจงานแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 3 ลำดับชั้น (Hierarchy)

ประทีปในวัย 71 ยังคงดูแลงานในหลายด้านที่เป็นหัวใจ ประกอบด้วย การซื้อขายที่ดิน งบการเงิน และภูมิภาค2 อีสานตอนล่าง  ส่วนภูมิภาค 3 ภาคใต้ที่เขาเคยดูแลได้ถ่ายโอนงานไปยังทายาท (ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม) และดูแลภูมิภาค 1 ประกอบด้วย ภาคเหนือและอีสานตอนบนที่มอบหมายให้เข้าไปดูแลตั้งแต่แรกที่เข้ามาบริหาร

----------------------------

จากไอดอลผ่องถ่ายคมคิด

เจนใหม่..ต่อยอดตำนาน

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ผู้ที่เข้ามาเริ่มงานตั้งแต่ปี 2550 ทายาทรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนศุภาลัยในอนาคต มองความสำเร็จในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา คีย์แมนที่ขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจยกให้ ประทีป ผู้เป็นพ่อ และผู้ก่อตั้งธุรกิจ เป็นต้นแบบในการวางรากฐานธุรกิจด้วยความรัก ซื่อสัตย์ กับหน้าที่ทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)

“ศุภาลัยมาถึงวันนี้ เพราะมีคุณประทีป เป็นหัวเรือ บุคคลที่สร้างตำนานให้ศุภาลัย มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและบริษัท มีความปรารถนาดีและทำให้สิ่งที่ดีที่สุดกับทุกคน เพื่อให้บริษัทเติบโตยั่งยืน และเติบโตไปด้วยกัน ชนะไปด้วยกัน”

เขามองว่า ประทีป เป็นนักพัฒนาอสังหาฯที่แตกต่างจากนักธุรกิจทั่วไปตรงที่มีความเป็นสถาปนิก จึงมององค์ประกอบรอบด้าน อย่างบูรณาการ และสอดแทรกความเป็นศิลปะในเนื้องาน

“คุณประทีป มีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างศิลปะ และธุรกิจ มีความชัดเจน มีพลังในการทำงานหนัก ค้นหาเทคนิค แสวงหาความรู้ กลยุทธ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เวลาพัฒนาโครงการจึงตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการซื้อ โครงการมักได้รับเสียงตอบรับถึงเรื่องต้นทุนที่ดี จึงทำราคาได้ดี สินค้าจึงคุ้มค่า”

สิ่งที่การันตีผลงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทุกปีหลังจากวิกฤติฟองสบู่

“ศุภาลัยเติบโต และแสวงหาช่องทางลงทุนใหม่ๆเสมอ เช่น ไปลงทุนต่างจังหวัด ซึ่งมีหลายรายไปแล้วกลับมา แต่เราลงทุนต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ใหม่ๆ และทำต่างจังหวัดมากที่สุด” เขาเล่า

ทายาทยังยกเครดิตให้กับ 2 ผู้บริหาร (ประทีป และอธิป พีชานนท์ กรรมการบริษัท/นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร) เป็นต้นแบบ หรือ ไอดอลบริหารงาน ทำให้เขาซึมซับหลักคิด และวิธีการตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กวิ่งเล่นในโครงการ จึงอ่านเกมตลาดอสังหาฯ กล้าตัดสินใจ

ทั้ง 2 ท่านรักในอาชีพ ทำงานหนักมาก ทุกอย่างที่พ่อ และคุณอธิปได้ทำไว้ ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่วิธีคิดและวิธีการบริหาร ถูกซึมซับผ่านการทำงานในทุกวัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการคุ้มค่า รวดเร็ว มีคุณภาพ และแสวงหาวิธีการใหม่ๆ มาพัฒนาธุรกิจอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ คือ คัมภีร์ของความสำเร็จที่ถ่ายทอดมาสู่ผม เขาเล่า

โดยทั่วไปคนจะมองถึงการเปลี่ยนผ่านกลุ่มธุรกิจเมื่อเจเนอเรชั่น เข้ามาบริหารงานจะต้องพลิกธุรกิจที่แตกต่างจากรุ่นก่อน แต่ไตรเตชะ เห็นว่าศุภาลัย ถูกคนรุ่นก่อนสร้างไว้อย่างแข็งแกร่ง และสิ่งที่วางรากฐานมาได้พิสูจน์แล้วว่า คนรุ่นก่อนได้ทำถูกต้อง ศุภาลัยมีต้นทุนที่ดี ฐานะการเงินแข็งแกร่ง คนถัดไปจึงทำหน้าที่ต่อยอดความสำเร็จ

การเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการเข้มแข็ง สะท้อนวิธีการที่ถูกมากกว่าผิด จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ต้นทุนดีที่สุดในตลาดเก็บไว้ สิ่งที่ปรับปรุงคือรายละเอียด ให้เข้ากับยุคและความต้องการลูกค้า และขยายหาเซ็กเมนท์ใหม่ๆ และพัฒนาภาพลักษณ์ทันสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ

ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มียอดขาย 6,280 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 27% มูลค่า 8,615 ล้านบาท เขาระบุว่า เป็นผลมาจากการเปิดตัวโครงการลดลง ทำให้ยอดขายลดลงตามไปด้วย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการเปิดตัวโครงการพิเศษ 2 โครงการในไตรมาสแรก 

“ปีที่แล้วมีการเปิดตัวโครงการพิเศษในไตรมาส 1 ที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ล้านบาท แต่ยอดขายปีนี้ลดลงในไตรมาสแรกก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย หลังจากที่ไตรมาส 2 เปิดตัวโครงการ ศุภาลัย ไอคอน มูลค่า 20,000 ล้านบาท จำนวน 700 ยูนิต มูลค่าโครงการครึ่งหนึ่งของที่เปิดตัวทั้งปี จึงเชื่อว่าการเปิดตัวโครงการนี้จะทำให้ยอดขายในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปิดการยอดขายครึ่งปีแรกมูลค่า 17,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรวมทั้งปี มีมูลค่า 35,000 ล้านบาท