ไอเอ็มเอฟลด 'จีดีพี' โลกปีนี้เหลือ 3.3% ชี้เสี่ยงต่อการเติบโตศก.สูงขึ้น

ไอเอ็มเอฟลด 'จีดีพี' โลกปีนี้เหลือ 3.3% ชี้เสี่ยงต่อการเติบโตศก.สูงขึ้น

มุมมองของ "อีไอซี" ต่อนัยเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ "ไอเอ็มเอฟ" โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลง และยังคงมีความเสี่ยงสูง

ศูนย์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมิน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงการณ์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2019 เหลือ 3.3% ลดลงจาก 3.5% รวมถึงคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกที่ถูกปรับลดลงเหลือ 3.4% จาก 4% จากประมาณการเดิมตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในเดือนมกราคม ปี 2019 โดยมองว่า ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในและสงครามการค้า เศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยเฉพาะในหลายประเทศสมาชิก ความไม่แน่นอนจาก Brexit และภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวยังส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจราว 70% ของโลกซึ่งครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคหลักเผชิญกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงกว่าที่คาดในปี 2019

อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 และในปี 2020 ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นและขยายตัวได้ดีในปี 2020 ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางของเศรษฐกิจหลัก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการคลังและการเงินของจีนที่ทยอยส่งผล และปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มคลี่คลายลง เช่น การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนี และความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาค

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2019 ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) นำโดยเขตยูโรโซน ซึ่งคาดว่า จะขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาดจากความเสี่ยงรายประเทศ และความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit โดย IMF ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตยูโรโซนปี 2019 ลงเป็น 1.3% (จากเดิม 1.6%) (รูปที่ 1) และปรับลดประมาณการของประเทศหลักในยูโรโซนทั้งหมดจากความเสี่ยงภายในที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน เช่น ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนีที่ชะลอลงจากมาตรฐานค่ามลพิษรถยนต์ฉบับใหม่ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตหนี้สาธารณะของอิตาลี และการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส อีกทั้งบทสรุป Brexit ที่มีความไม่แน่นอนสูงยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ในอีกด้าน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกปรับลดประมาณการการเติบโตปี 2019 เป็น 2.3% (จากเดิม 2.5%) สะท้อนผลลบจากการปิดทำการของหน่วยงานรัฐฯ (government shutdown) ในช่วงเดือนมกราคม 2019 แต่ในภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่าขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพ ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกปรับคาดการณ์การเติบโตลงเป็น 1.0% (จากเดิม 1.1%) โดยภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกญี่ปุ่นได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตปรับตัวลง สำหรับปี 2020 IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจกลุ่ม DM จะชะลอลงสู่ระดับ 1.7% จาก 1.8% ในปี 2019 เนื่องจากผลบวกของมาตรการกระตุ้นทางภาษีในสหรัฐฯ เริ่มหมดไป ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถูกกดดันจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนตุลาคมปี 2019

IMF ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่ม EM ในปี 2019 จากการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องจากปี 2018 ในบางประเทศ IMF ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EM ในปี 2019 ลงเป็น 4.4% (จากเดิม 4.5%) โดยกลุ่มประเทศที่ถูกปรับลดลงมากที่สุดคือกลุ่มลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางซึ่งยังเผชิญแรงกดดันจากความวุ่นวายทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอาร์เจนติน่า เวเนซุเอลา และอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้าและจะส่งผลลบต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก เช่น ซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน สำหรับปี 2020 คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM จะกลับมาขยายตัวราว 4.8% ด้วยแรงสนับสนุนหลักจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ และภาวะการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนไม่ทวีความรุนแรง

IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ต่อเนื่องถึงปี 2020 นำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ EM ที่ขยายตัวได้ดีขึ้นด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอินเดียที่ระดับ 6.1% และ 7.5% ตามลำดับ โดยจีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเร่งการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนภาคธุรกิจควบคู่กับการลดสัดส่วนการดำรงเงินสำรองของธนาคาร (RRR) อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพและสินเชื่อในระบบ เช่นเดียวกับอินเดียที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นและคาดว่าจะออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจ EM หลายประเทศที่เกิดวิกฤตในปี 2018 เช่น ตุรกีและอาร์เจนตินา คาดว่าจะมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2019 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ 3.6% ในปี 2020 ยังได้รับอานิสงค์จากการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักและปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มลดลงหาก Brexit สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้ในระยะกลาง IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020จะยังคงขยายตัวได้ราว 3.6%

IMF มองความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกปี 2019 อยู่ในระดับสูง แต่โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังค่อนข้างต่ำ มาตรการกีดกันทางการค้ายังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนในวงกว้าง แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงกับจีนและข้อตกลง USMCA ซึ่งกำลังมาทดแทนข้อตกลง NAFTA เดิม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงในประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งล่าสุดสหรัฐฯ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศในสหภาพยุโรปด้วยข้อหาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมมูลค่าราว 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอากาศยานภายในภูมิภาคที่กระทบต่ออุตสาหกรรมอากาศยานในสหรัฐฯ ซึ่งยังคงสร้างความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าโลกและส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอการบริโภคและการลงทุนลงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ เมื่อมองความไม่แน่นอนรายภูมิภาค ในเขตยูโรโซน อิตาลียังคงเผชิญอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูงสะท้อนความเสี่ยงที่ยังไม่คลี่คลายและอาจมีโอกาสในการเกิดวิกฤตธนาคารพาณิชย์ในอิตาลีได้หากสภาพคล่องตึงตัวเกินคาด นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) และส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่การผลิตและต้นทุนการค้าของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและประเทศในสหภาพยุโรปยังคงมีอยู่ ขณะที่ในสหรัฐฯ วัฏจักรสินเชื่อกำลังอยู่ในช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น หากพิจารณาจากสัดส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำที่มีสัดส่วนสูงขึ้นและการกู้เงินที่มีข้อสัญญาไม่เข้มงวด (covenant-lite loans) ที่มีมากขึ้นกว่าในอดีต จะส่งผลต่อความเสี่ยงในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ได้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงเกินคาด

ความเสี่ยงที่สูงขึ้นในหลายด้านเป็นความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ซึ่งความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา 3 ประการ คือ 1) มาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งต้องติดตามความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ-จีน และข้อตกลง USMCA ระหว่างสหรัฐฯ แคนาดาและเม็กซิโก รวมถึงการตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2) บทสรุปของ Brexit โดยเฉพาะรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในอนาคต ซึ่งล่าสุดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเห็นชอบร่วมกันเพื่อเลื่อนเส้นตาย Brexit ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2019 เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) และให้เวลาสหราชอาณาจักรหาบทสรุปรูปแบบความสัมพันธ์ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาอังกฤษ และ 3) ภาวะการเงินที่อาจกลับมาตึงตัวเกินคาด ไม่ว่าจะมาจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวในภูมิภาคหลักที่อาจพลิกกลับมาเพิ่มสูงขึ้น หากเงินเฟ้อหรือคาดการ์เงินเฟ้อเริ่มเร่งตัว รวมถึงความเสี่ยงจากหนี้ภาคเอกชนในสหรัฐฯ และจีนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้หากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินการคลัง สหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเพื่อยุติสงครามการค้าได้เบื้องต้น สหรัฐฯ ไม่ขึ้นภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และสหราชอาณาจักรไม่เกิดเหตุการณ์ No-deal Brexit รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลักยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง

มุมมองของอีไอซีต่อนัยเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลงและยังคงมีความเสี่ยงสูง อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2019 ใหม่ที่ระดับ 3.6% (จากเดิม 3.8%) และปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐชะลอลงเหลือ 2.7% (จากเดิม 3.4%) สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM และผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในจากการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังการจัดตั้งรัฐบาล และการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีสูง แต่เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถต้านทานผลกระทบจากภายนอกได้ ทั้งนี้อีไอซีมองเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2019 ทรงตัวอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังคงเกินดุลอยู่ในระดับสูงราว 6.4% ของ GDP

1_30