ชี้ 'กกต.' ไม่ควรส่งศาลรธน. ตีความสูตรคำนวณส.ส.

ชี้ 'กกต.' ไม่ควรส่งศาลรธน. ตีความสูตรคำนวณส.ส.

"จาตุรนต์" ชี้ "กกต." ไม่ควรส่งศาลรธน. ตีความสูตรคำนวณ ส.ส. เฉลี่ยให้พรรคเล็ก เหตุเป็นปัญหาเชิงเทคนิค แนะให้ฟังคนอื่น-ยึดรธน. ซัดสร้างบทบาทตัดสินฝ่ายไหนได้ตั้งรัฐบาล แย้มอาจยื่นคำร้องศาลรธน.คู่ขนาน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักษาชาติ ฐานะนักการเมืองอิสระให้ความเห็นต่อประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสูตรคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งได้คะแนนต่ำว่าค่าเฉลี่ยที่พึงได้ส.ส.1คน ว่า เป็นเรื่องที่ กกต. ไม่ควรเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการคำนวณจำนวนส.ส.พึงมีนั้น เป็นวิธีที่ กกต.ใช้แก้ปัญหาทางเทคนิด และตนยืนยันว่าวิธีที่ กกต. ดำเนินการนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4)อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.เกินกว่าจำนวนที่จะพึงมี ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือ กกต. ควรหาวิธีอื่นเพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคซึ่งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ทั้งนี้ตนมองว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและวินิจฉัยว่าวิธีที่ กกต. ส่งให้ตีความไม่สามารถทำได้ จะกลายเป็นปัญหาอีกว่าจะใช้วิธีแก้ไขด้วยวิธีใด

กกต. ควรจำกัดวิธีการของตัวเอง และใช้วิธีการตามข้อเสนอของบุคคลที่ช่วยคิดซึ่งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่ กกต.กลับทำสิ่งที่น่าแปลก เช่น เรื่องที่ควรเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีข้อสงสัยต่อคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและไม่สามารถเสนอชื่อให้เป็นแคนนิเดตนายกฯ และพรรคการเมืองหรือไม่ กลับมีมติเอกฉันท์ว่าไม่ส่งศาลรัฐธรรมนุญ นายจาตุรนต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่กกต. เสนอคำร้องให้ยืนยันการคำนวณส.ส.ให้พรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึค่าเฉลี่ยพึงมีส.ส. จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวโดยเชื่อว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงเสียงของฝ่ายประชาธิปไตย และทำให้กลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นกรณีที่กกต. ดำเนินการนั้นถือว่าเข้ามามีบทบาทตัดสินว่าฝ่ายไหนจะได้เสียงข้างมากในสภาฯ และมีต่อการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ตนขอจับตาการทำงานของ กกต. และอาจพิจารณาตามความจำเป็นว่าจะเสนอประเด็นอื่นๆ หรือวิธีการอื่นในประเด็นการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เสียเวลา และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวิธีการของกกต. ตกไป และไม่แนะนำวิธีการที่ถูกต้อง กรณีดังกล่าวอาจยืดเยื้อ รวมถึงต้องติดตามการวินิจฉัยคำร้องว่าด้วยข้อสงสัยต่อการทุจริตเลือกตั้งที่นำไปสู่การให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงและมีผลจัดตั้งรัฐบาลได้