“ไวไว”พลิกแตกไลน์สู่ 3 ธุรกิจอาหาร

“ไวไว”พลิกแตกไลน์สู่ 3 ธุรกิจอาหาร

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตน้อย “ไวไว” ปรับสูตรธุรกิจ แตกไลน์สู่อาหาร สินค้าแปรรูป อาหารตามเทรนด์โลก ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ 

นายปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแบรนด์ “ไวไว ควิกแสบ และซือดะ” เปิดเผยว่า จากแนวโน้มธุรกิจอาหารเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุภายในปี 2568 และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่เป็นทางเลือกใหม่ๆมากขึ้น กระทบการจงรักภักดีต่อแบรนด์(ลอยัลตี้) ทำให้บริษัทต้องปรับตัวทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ได้นำจุดแข็งของฐานธุรกิจเดิมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ด้วยการแตกโมเดลทางธุรกิจใหม่ขึ้นมาอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ “ควิกเทอเรส” นำวัตถุดิบเส้นบะหมี่มาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทำเป็นอาหารจานหลักและอาหารทานเล่น ในราคาที่ย่อมเยา ทดลองเปิดสาขาแรกบริเวณหน้าโรงงานไวไว ที่อ้อมใหญ่ราว 2 ปีแล้ว และเตรียมขยายสาขา 2 ที่จังหวัดชลบุรีในเดือนพ.ค.นี้ โดย 3-5 ปี ตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 100 สาขาทั้งในและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น ในรูปแบบการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์

ส่วนธุรกิจที่ 2 จะให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จะร่วมมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตผลิตผลทางการเกษตร พัฒนาสินค้าแปรรูปเป็นผงปรุงรส และเครื่องเทศเพื่อทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ และธุรกิจที่ 3 จะมุ่งเน้นพัฒนาอาหารอนาคต รองรับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการอาหารที่สะดวก รวดเร็ว และให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัย อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้มอบหมายให้ นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดูแล

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสถาบันอาหาร ระบุว่า 50% ของผู้บริโภคให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ และผู้บริโภคมากถึง 30% ยอมจ่ายเงินให้แก่อาหารเกษตรอินทรีย์ โดยแนวโน้มการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์เติบโตกว่า10% ทุกปีทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา จีน และญี่ปุ่น

“บริษัทคาดว่าธุรกิจใหม่ทั้ง 3 กลุ่ม จะสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ซึ่งจากการทำตลาดดังกล่าว บริษัทต้องการผลักดันยอดขายโดยรวมให้แตะ 10000 ล้านบาท ภายใน 5-10 ปี และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจาก 15% เป็น 30%”