วช.โชว์600วิจัยนวัตกรรม ปูทางสู่ ‘ก.อุดมศึกษา’ ใหม่

วช.โชว์600วิจัยนวัตกรรม ปูทางสู่ ‘ก.อุดมศึกษา’ ใหม่

มหกรรมงานวิจัยฯ ปูทางสร้างความพร้อมให้คนไทยรู้จักกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่จัดตั้งใหม่ตามนโยบายปฏิรูปองค์กรวิจัย ย้ำความสำคัญ “วิจัยนวัตกรรม” เครื่องมือใหม่ยกระดับสู่ประเทศชั้นนำของโลก

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.62 พล.อ.อ.ประจิน ประจั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย” ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019) ในวานนี้ (7 เม.ย.) ว่ารัฐบาลมุ่งเน้นความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมในการนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผ่านแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 แผนแม่บท

แผนแม่บทที่ 23 เป็นประเด็นเรื่องการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการพัฒนาต่อยอดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเทศชั้นนำของโลก สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐเพิ่มขึ้น

รัฐบาลจึงได้ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศครั้งใหญ่ โดยบูรณาการให้ตรงกับความต้องการและเป็นไปได้ในทิศทางเดียวกัน ด้วยการจัดตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบโดยรวม 4 หน่วยงานเข้าด้วยกัน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เพื่อปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปการบริหารราชการ การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ และการปฏิรูประบบงบประมาณ โดยเน้นการทำงานกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนให้กระทรวงใหม่นี้สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ

“เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาทำงานให้คณะกรรมการไว้ 75 วัน หรือไม่เกิน 90 วันจะต้องเสร็จเรียบร้อยสำหรับภารกิจ 3 ส่วนของกระทรวงใหม่ ขณะนี้การทำงานผ่านมาได้ 30 วันแล้วคือ โครงสร้างบุคลากรว่าใครจะมาอยู่ส่วนของราชการ หรือใครจะอยู่ส่วนขององค์การมหาชน อย่างน้อย 30-40% ต้องมีความชัดเจน ถัดมาเป็นเรื่องการโอนย้ายทรัพย์สินและสถานที่ตั้งของกระทรวงใหม่"

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นเวทีระดับชาติที่รวบรวมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญจากทุกหน่วยงานในระบบวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะผลงานที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และที่สำคัญเป็นการปูทางสร้างความรู้จักให้กับการมีกระทรวงใหม่

นอกจากนี้ยังเป็นเวทีเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงการสร้างสรรค์ สร้างแรงขับเคลื่อน และให้เกิดกลไกสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นฐานความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ปีนี้มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่และนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน องค์กร และพาณิชย์จากหน่วยงานในระบบวิจัยร่วมจัดแสดง 603 ผลงานจาก 153 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการงานวิจัย กิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา

กิจกรรม Thailand Research Symposium 2019 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อผู้สนใจและผู้ใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการในประเด็นสำคัญอื่นๆ ตลอดจนการประชุมอีก 102 หัวข้อ และบริการให้คำปรึกษาในเรื่องของการวิจัย คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 2 หมื่นคน ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 7-10 เม.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์