คลังอาเซียนจับมือพัฒนาระบบชำระเงิน

คลังอาเซียนจับมือพัฒนาระบบชำระเงิน

"อภิศักดิ์"ผยที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนเห็นชอบกรอบความร่วมมือพัฒนาระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวก เบื้องต้นไทยจะจับมือกัมพูชา อินโดนีเซีย และ ลาว ร่วมใช้QR Code ขณะที่ เตรียมดึงอาลีบาบาร่วมพัฒนาใช้ QR Code อาเซี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 23 และ เป็นประธานร่วมกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 5 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในประเด็นหลักที่เป็นกรอบการดำเนินการของไทยใน 3 เรื่อง คือ 1.ความเชื่อมโยง โดยจะพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในอาเซียน

2.ความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสนับสนุนการเจข้าถึงบริการทางการเงิน และ 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

“เริ่องที่เราหารือส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เราทำมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องใหม่ที่เราผลักดัน คือ เรื่องของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเพย์เมนท์เพื่อเชื่อมโยงระบบการชำระเงินให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่เกิดความร่วมมืออย่างเป็นทางการ”

ทั้งนี้ เมื่อระบบอีเพย์เมนท์พัฒนาแล้ว ต่อไปเราจะพัฒนาระบบการชำระเงินที่เรียกว่า QR Code ร่วมกัน เบื้องต้น ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย และลาว สนใจจะพัฒนาระบบนี้ร่วมกับไทย ทั้งนี้ ในครั้งนี้ เราได้บอกทางอาลีบาบาว่า ควรที่จะใช้ระบบQR Code ในการชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายผ่านอาลีบาบาด้วยเช่นกัน ซึ่งอาลีบาบาก็สนใจและจะประสานกับแบงก์ชาติไทยในเรื่องดังกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า การใช้ระบบอีเพย์เมนท์ของไทยได้ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น โดยปัจจบันประชากรของไทยกว่า 40 ล้านคน ใน 60 ล้านคน ได้ใช้ระบบอีเพย์เมนท์แล้ว ขณะที่ ในที่ประชุมมีการพูดถึงว่า ไทยสามารถบริการทางการเงินได้ถึง 80% ซึ่งเราได้บอกไปว่า หากนับคนจนที่ใช้บัตรคนจนผ่านระบบอีเพย์เมนท์ภาครัฐด้วยแล้ว จะถือว่า ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้เกือบ 100% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบที่จะร่วมกันผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบASEAN Single Window ได้ครบทั้ง 10 ประเทศภายในปีนี้ โดยรับรองความคิดริเริ่มเรื่องมาตรฐานของหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการคืนภาษีให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน และ รับรองแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนของที่ประชุมหน่วยกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน

เขากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนยังได้ร่วมลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าการบริการของอาเซียน โดยการเจรจาพิธีสารดังกล่าวได้เริ่มต้นในปี 2559 และ ได้ข้อสรุปในปีนี้ จึงมีการลงนามร่วมกันดังกล่าว

ทั้งนี้ ในพิธีสารฯฉบับที่ 8 นี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้มีการตกลงในรูปแบบทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิดQualified ASEAN Banks(QABs)ซึ่งทำให้การจัดตั้งธนาคารของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในการเปิดเสรีประกันวินาศภัย โดยเฉพาะการประกันภัยทางน้ำ ทางอากาศ และ การขนส่งและมีการผ่อนคลายอุปสรรคการเปิดเสรีในสาขาหลักทรัพย์ด้วย "พิธีสารฯฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญส่วนใหญ่เช่นเดียวกับพิธีสารฯฉบับที่ 7 ที่ได้เคยมีการลงนามไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ฉบับนี้ แตกต่างเรื่องของข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งได้ปรับปรุงข้อผูกพันในสาขาหลักทรัพย์ สาขาย่อยบริการจัดการลงทุนในการอนุญาตให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุนได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้วในระยะ 5 ปีแรก หลังจากที่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกรอบการรวมตัวภาคการเงินของอาเซียน โดยที่ประชุมคณะทำงานอาวุโสอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกระบวนการเร่งการเปิดเสรีในสาขาการธนาคารของอาเซียนได้จัดตั้งTask Force of ASEAN Bangkok integration Framework (TF-ABIF)ขึ้นเพื่อจัดทำกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน โดยมีเป้าหมายคือการจัดตั้งQABs ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปสามารถดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาธนาคารพาณิชย์ของประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปสามารถเจรจาเปิดเสรีสาขาธนาคารพาณิชย์ของประเทศตนได้โดยสมัครใจ โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาสามารถสรุปผลเจรจาและจัดทำข้อผูกพันในสาขาการธนาคารของตนได้เป็นรายปี

ทั้งนี้ การให้สิทธิพิเศษในสาขาการธนาคารให้การปฎิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งแก่ประเทศสมาชิกอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมเจรจา โดยมีการกำหนดกรอบมาตรฐานและคุณสมบัติของQABs รวมถึง การกำกับดูแลรูปแบบและขอบเขตการประกอบธุรกิจไว้เบื้องต้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ประเทศอื่นๆได้ ในทางกลับกันก็เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่จะได้มีทางเลือในการใช้บริการมากขึ้น

เขากล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัว “กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน” ซึ่งอยู่ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) โดย กองทุนดังกล่าวถือเป็นช่องทางในการระดมทุนใหม่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะระดมทุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา มีการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน รวมเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วย (1) ADB (2) German Development Bank (3) European Development Bank และ (4) Agence Française de Développement

นอกจากนี้ Overseas Private Investment Cooperation ได้แสดงความสนใจให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ และมีองค์กรอื่น ๆ อีกหลายแห่งที่พร้อมสนับสนุนการแบ่งปันองค์ความรู้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการเงินสีเขียวผ่านกลไกดังกล่าว