AIT ปรับทัพธุรกิจใหม่ ดันฐานะ 'หมื่นล้าน'

AIT ปรับทัพธุรกิจใหม่ ดันฐานะ 'หมื่นล้าน'

'รับเหมา & เทรดดิ้ง' ธุรกิจใหม่เสริมรายได้ผลักดันตัวเลขแตะ 'หมื่นล้าน' ด้าน 'ศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์' นายใหญ่ บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ส่งซิกอยากชนะตลาดไอทีเติบโตช้า ต้องกระจายพอร์ตลงทุนสู่โมเดลอื่น...!!

เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอด 25 ปี ของ บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี หรือ AIT ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ หลังกำลังเข้าสู่โลกแห่ง 'ยุคดิจิตอล' (Digital Transformation) บ่งชี้ผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีมีผลต่อการซื้อและใช้งานสินค้าไอที ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 70% (อ้างอิงตัวเลขในปี 2561)

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561) ของ 'ตระกูลอุ่นทรพันธุ์' ผู้ถือหุ้นใหญ่ 'บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี' ตัดสินใจปรับ 'โมเดลธุรกิจ' (Business Model) ครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ 'ธุรกิจรับเหมา' และ 'ธุรกิจใหม่' เสริมรายได้อีกทาง...!! 

ปัจจุบัน  AIT ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร แบ่งออกเป็น 7 สายธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจ System Integrator (SI) คือ ธุรกิจการรวมองค์ประกอบด้านต่างๆ มาเป็นระบบ ICT เดียว หรือเป็น solution เดียวเพื่อนาเสนอให้ลูกค้าแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งองค์ประกอบต่างๆประกอบด้วยระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware) ระบบซอฟต์แวร์ (Software) ระบบเครือข่ายสื่อสาร (Network) และระบบโปรแกรมใช้งาน (Application Software) องค์ประกอบยังรวมถึง การให้การปรึกษา การออกแบบระบบ การติดตั้ง การฝึกอบรม และการซ่อมบารุงรักษา 

2.ธุรกิจ Cloud Implementer คือ ธุรกิจสร้างระบบคลาวด์ (Cloud) ให้กับลูกค้าทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ องค์กรเหล่านี้มักจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบริษัทลูกมากมาย ซึ่งระบบคลาวด์จะช่วยให้การบริหารจัดการระบบ IT ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายอย่างยิ่ง 3.ธุรกิจ Data Virtualization (DV) คือ ธุรกิจการสร้างข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่จานวนมากมหาศาล หรือ Big Data มาเป็นประโยชน์ในเชิงข้อมูลและสถิติในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพตลอดจนสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน  

4. ธุรกิจ Security คือ ธุรกิจที่สร้างความปลอดภัยของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์และสื่อสาร 5. ธุรกิจ Internet of Things หรือ IOT คือ ธุรกิจที่นาเอาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องกล เครื่องเล่น หรือเครื่องใช้ต่างๆมาเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต (internet) เพื่อใช้งานให้มีประสิทธิผล บริหารจัดการได้ง่าย สะดวก และลดค่าใช้จ่าย 

6. ธุรกิจ Software คือ ธุรกิจโปรแกมใช้งาน (Application Software) ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟต์แวร์เครือข่ายที่กาหนด (Software Define Network หรือ SDN) ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการระบบเครือข่าย (Network) ขององค์กรได้ง่ายขึ้น สามารถเร่งการใช้งาน แอพลิเคชันและการจัดส่งอย่างรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีผ่าน นโยบายที่เปิดใช้งานเวิร์กโฟลว์อัตโนมัติ และ 7.ธุรกิจการลงทุน คือ การลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนในระยะยาวและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจ Start Up ที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ 

'ศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์' ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี หรือ AIT บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า เป้าหมายอยากเห็นตัวเลขรายได้เติบโตแตะระดับ 'หมื่นล้าน' แต่คงยากลำบากหากยังคงยึดโมเดลธุรกิจเดิมๆ ส่งผลให้เมื่อ 2 ปีก่อนบริษัทตัดสินใจต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

ด้วยการศึกษาลงทุนใน 'ธุรกิจใหม่' (New Business) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเห็นรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน 'ธุรกิจรับเหมา' หนึ่งในตัวเลือกที่ลงทุน โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% สะท้อนผ่านการรับงานโครงการ “สถานีย่อยจ่ายไฟฟ้า” ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนนวน 2 แห่ง มูลค่างานละ 150 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ กฟภ. ก็อยู่ระหว่างการขยายลงทุนต่อเนื่อง และในปี 2562 บริษัทมีโอกาสจะได้รับงานของ กฟภ. อีกด้วย 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการรอผลประมูลงานรับเหมา 'โครงการวางท่อสายเคเบิ้ลลงดิน' มูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลครึ่งปีแรก 2562     

'หุ้นใหญ่' บอกต่อว่า บริษัทกำลังศึกษาเข้าไปลงทุนในธุรกิจ 'ซื้อมาขายไป' (เทรดดิ้ง) ที่เป็นสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าไอที เช่น อะลูมิเนียม เพื่อต้องการหารายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมธุรกิจไอทีและลดความเสี่ยงหากธุรกิจไอที (SI) ไม่มีงานประมูลออกมา เพราะปัจจุบันบริษัทพึ่งพิงงานจากภาครัฐเป็นสัดส่วนใหญ่ 'เราจะเข้าในธุรกิจที่เข้ามาช่วยเสริมรายได้เติบโตจากธุรกิจไอทีอย่างเดียว'

'หากเรายังอยู่ในธุรกิจไอทีก็จะเติบโตแค่ 4,000-5,000 ล้านบาท แต่ต้องการโตแตะหมื่นล้าน เราต้องไปหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม นั่นคือเป้าหมายที่จะทำให้เราสามารถชนะธุรกิจไอทีได้ เพราะว่าธุรกิจเราขึ้นอยู่กับงานโครงการของรัฐ'

สำหรับเป้าหมายในปี 2562 อยากเห็นตัวเลขผลประกอบการกลับไปยืนระดับ 6,477.48 ล้านบาท (ในปี 2557) ก่อน ซึ่งถือเป็น 'รายได้สูงสุด' (New High) ที่บริษัทเคยทำได้...!!  

โดยบริษัทคาดว่ามีโอกาสเห็นตัวเลขดังกล่าวในปีนี้ สะท้อนผ่านมูลค่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) (ณ วันที่ 1 มี.ค. 2562) อยู่ที่ 6,800 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือสูงสุดกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 'กว่า 2 เท่า' โดยมีโครงการขนาดใหญ่ที่ AIT ได้รับคำสั่งซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเลื่อนมาจากปีก่อน ประกอบด้วย โครงการจ้างงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่ากว่า 3,350 ล้านบาท 

รวมทั้ง โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม หรือโครงการเน็ตประชารัฐ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลค่าราว 800 ล้านบาท และโครงการใหม่อื่น ๆ ที่ทยอยเซ็นสัญญาในช่วง ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่างานในมือที่มีอยู่จะทยอยรับรู้รายได้ภายในปีนี้ราว 60-70% 

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างรอประมูลในปี 2562 คิดเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดหวังชนะประมูลโครงการไม่ต่ำกว่า 30-40% เนื่องจากการตื่นตัวจาก Disruption ในยุคดิจิทัล 4.0 ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน หรือ Transform ธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะคาดว่าจะมีงานโครงการวางระบบไอทีขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมามากขึ้น 

นอกจากนี้ บริษัทกำลังติดตามงานประมูลโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย หรือ  AOT ซึ่งคาดว่า AOT จะเปิดประมูลงานระบบไอทีในปีนี้ มูลค่า '200-300 ล้านบาท' ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารอยู่ โดยที่ผ่านมาบริษัทก็ทำให้ AOT มาตลอด 

'งานในตลาดที่เราโฟกัสราว 1.3 หมื่นล้าน โดยบริษัทมีขีดความสามารถในการรับงานได้ถึงระดับ 5,000 ล้านบาท สะท้อนจากการที่บริษัทรับงานรัฐสภาแล้ว จากปกติมูลค่างานเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-1,200 ล้านบาท'

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าแผนควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ศักยภาพการทำกำไรปีนี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านอัตรากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 5.59% 

นอกจากนั้น มีแผนเพิ่มสัดส่วน 'ธุรกิจด้านงานบริการ' (เซอร์วิส) ที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 20% 

สำหรับการเข้ามาของ 'เทคโนโลยี 5G' ที่ปัจจุบันมีการเริ่มทดลองใช้ในผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว บริษัทมองว่าเป็นโอกาสต่อการขยายงานในอนาคต คาดว่าผู้ประกอบการต่าง ๆ จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในแง่ของธุรกิจติดตั้งระบบ ซึ่งบริษัทมีการเตรียมพร้อมโดยส่งบุคคลากรไปอบรมเพื่อเตรียมรับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ บริษัทมีความสนใจและอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อลงทุนในธุรกิจ 'IoT Solution' เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ให้บริการใหม่ในปี 2562 โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนในระยะถัดไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งเชื่อว่าจะส่งเสริมรายได้ของบริษัทให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทยังดำเนินธุรกิจกระจายการลงทุนในหลายส่วน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในต่างประเทศ ที่ล่าสุดได้เตรียมงบลงทุนไว้ 150 ล้านบาท เพื่อนำมาเพิ่มทุนรักษาสัดส่วนถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10% ในบริษัท คัม ปานา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับพันมิตรต่างชาติ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสโครงการวางระบบไอทีในเมียนมาที่มีจำนวนมาก อาทิ งานวางระบบไฟเบอร์ออฟติกใต้น้ำ เป็นต้น ดังนั้น เชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยผลักดันโอกาสขยายธุรกิจในเมียนมา และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ท้ายสุด 'ศิริพงษ์' ทิ้งท้ายว่า ปี 2561 เป็นจุดต่ำสุดของบริษัทแล้ว ปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อนซึ่งปัจจัยการเติบโตคือปริมาณงานโครงการที่จะมีออกมามากขึ้น หลังจากที่ชะลอไปในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีโครงการที่จะเปิดประมูลเพิ่มเติมอีกมาก ซึ่งบริษัทจะพิจารณาเข้าประมูลงานในอนาคตอย่างต่อเนื่อง