เมื่อ “5จี” ตัวแปรใหญ่ ปลุกไทยผู้นำอาเซียน

เมื่อ “5จี” ตัวแปรใหญ่ ปลุกไทยผู้นำอาเซียน

เอกชนไทยให้ความสำคัญ 5จี และเริ่มทดลองทดสอบเพื่อหาแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้งานจริงเพื่อหวังจะได้ “ยูส เคส” ที่เหมาะกับตลาดไทย

ภายในงานสัมมนา “5จี ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่จัดขึ้นวานนี้ (3 เม.ย.) ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือของไทยทั้ง เอไอเอส ดีแทค กลุ่มทรูฯ และ 3บีบี ซึ่งทำให้ภาพของเทคโนโลยี 5จีใกล้ความจริงเข้ามาเรื่อยๆ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานคลื่นควาทถี่ที่ชัดเจนจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) แต่ในมุมมองของเอกชนไทยต่างให้ความสำคัญและเริ่มทดลองทดสอบเพื่อหาแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้งานจริงเพื่อหวังจะได้ “ยูส เคส” ที่เหมาะกับตลาดของไทย โดยเมื่อที 5จีเกิดขึ้นจริงเมื่อไรก็พร้อมลงสนามขับเคี่ยวกันได้ในทันที

เอไอเอสปั้นคนหนุนบิซิเนสเคส

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า สิ่งสำคัญของ 5จี คือมาตรฐานการใช้ คาดว่าจะออกสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า กว่าจะออกมาเป็นอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีมาใช้อีกครึ่งปีเป็นอย่างน้อย ทำให้เต็มที่อีก 1-2 ปี โดยมีการเปรียบเทียบราคาความถี่ 4จี และ5จีซึ่งพบว่า ของไทยมีราคาแบนด์วิธต่อเมกะเฮิรตซ์ 5จีคิดเป็น 5.5% ของ4จี เกาหลี 47% ของ4จี สเปน 30% ซึ่งเทียบแล้ว 4จีไทยแพงสุด ถ้าเอามาเฉลี่ยควรตก 5% ของ4จี เพื่อไม่ให้แพงกว่านี้

ทั้งนี้ เอไอเอสนับสนุนเรื่อง5จี เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์กับสถานศึกษา นักศึกษา นักคิด นักประดิษฐ์ และนอกเหนือจากการเตรียมพร้อมเทคโนโลยี มีต้องเตรียมพร้อมบิซิเนสเคสต่างๆ นำไปทดลองในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงเตรียมพร้อมบุคคลากร โดยมีการลงนามกับคณะวิศวะกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา และนำ5จี ไป ไปทดลองใช้ในด้านต่างๆ

3บีบีพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลง

ด้านนายยอดชาย อัศวธงชัย หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3บีบี กล่าวว่า 5จี ต้องประกอบด้วย 3 กลุ่มคลื่นความถี่ ได้แก่ กลุ่มคลื่นความถี่ต่ำ กลุ่มคลื่นความถี่กลาง และกลุ่มคลื่นความถี่สูง เมื่อ5จีเข้ามาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยหลายด้าน ตอนนี้ในเมืองมีสายสื่อสารจำนวนมาก ซึ่ง5จีในกลุ่มคลื่นความถี่สูงจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ ขณะที่พื้นที่ห่างไกลจะใช้คลื่นความถี่ต่ำเพื่อสร้างความเจริญในพื้นที่ให้มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งนี้ 5จีจะช่วยเอื้อระบบไอโอทีเพื่อมุ่งสู่การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ต่างจาก4จีที่ไม่การตอบสนองไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมในเรื่องของอุตสาหกรรมภาคครัวเรือนและการผลิต และการบริการ

โดยเป้าหมายของไทย บริษัทมีแผนจะผลักดันให้ 5จี มีศักยภาพสูงสุดเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยควรเพิ่มผู้ประกอบการให้มีความหลากหลายในการให้บริการ ซึ่งอย่าง 3บีบีเองที่เป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) หากมีผู้ให้บริการหลากหลายก็เป็นประโยชน์กับประชาชนด้วย

“ทรู”แนะภาครัฐยืดหยุ่นค่าไลเซ่นส์

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า​ วิสัยทัศน์ของบริษัทเกี่ยวกับระบบ 5จีมั่นใจว่าประเทศไทยจะต้องเดินไปข้างหน้า และพัฒนาไปสู่ระบบ 5จีได้อย่างแน่นอน ซึ่งในการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม ในช่วงแรก เรื่องของความต้องการใช้งานดาต้าดามีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลถึงปัจจุบันที่มีความต้องการใช้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่า ภาครัฐจึงต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา และสนับสนุน อาทิ การลดภาระเรื่องต้นทุน การคำนวณราคาใบอนุญาต หรือต้องมีการกำหนดราคามูลค่าคลื่นความถี่ ให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นในการลงทุน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เอกชนดำเนินธุรกิจได้

“มั่นใจว่าระบบ 5จี​ จะมามีประโยชน์ในเรื่องของรูปแบบการใช้งาน (ยูส เคส)ในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพัฒนาระบบ 5จี​ เพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ถ้ามีการพัฒนาอย่างวิธี จะมีการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ซึ่งทางบริษัทจะเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมภาคการผลิตกว่า 40-50% เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ในอนาคต ซึ่ง 5จี​ ไม่ได้ต้องการเอามาแทนระบบ 4จีแต่จะมีการพัฒนาแบบคู่ขนานกันไป”

ดีแทคเน้นความร่วมมือรัฐ-เอกชน

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ชี้ว่า 5จีต้องมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในส่วนการพัฒนาจัดสร้างและใช้งานโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่ธุรกิจการบริการในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาว และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (อินฟราสตรัคเจอร์ แชร์ริ่ง) หรือจัดทำหน่วยงานกลางรับผิดชอบในรูปแบบบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ คัมพะนี)