'อีอีซี' ปรับโครงสร้างส่งออก

'อีอีซี' ปรับโครงสร้างส่งออก

สินค้าเทคโนโลยีเก่า ทยอยส่งออกลดลง


ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (digital Transformation)ที่พบว่าสินค้าหลายรายการจากเดิมที่สามารถขายได้จำนวนมากแต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนสินค้าชิ้นเดียวกันนั้นกลับกลายเป็นของไร้ค่าในชั่วพริบตา ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการอยู่ในข่ายที่กำลังถูกไล่ล่าจะการเปลี่ยนผ่านนี้

หากไม่เรียนรู้และรีบปรับตัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภาคการส่งออกของไทยคือ การเป็นเหยื่อของ disruption แห่งยุคสมัยนี้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคการส่งออกถึง 70% กระแสเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้กระแสดังกล่าวนี้ไม่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศ เข้าสู่ภาคการผลิตที่แท้จริงของไทยได้ สิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการคือปรับตัว

อีอีซีปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมีผลกระทบให้สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการกำลังปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสิ่งที่ทำได้กับสถานการณ์ธุรกิจอย่างนี้คือ หากไม่เลิกผลิตก็ต้องปิดกิจการไปเพราะสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้วต่อให้มีความสามารถผลักดันผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีเยี่ยมอย่างไรก็ไม่สามารถกู้สถานการณ์ได้

'อีอีซี' ปรับโครงสร้างส่งออก

การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ส่งสัญญาณมานานแล้วทำให้กรมเริ่มมองหาโอกาสการส่งออกรวมถึงการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้ภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ดีเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศได้ต่อไป

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี คือคำตอบของการปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นการวางรากฐานและจะขยายตัวเติบโตได้ในอนาคตซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น สินค้าเทคโนโลยีหลายรายการของไทยที่กำลังปรับตัวลดลงและมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถส่งออกได้อีกก็จะมีสินค้าจากการผลิตภายใต้โครงการอีอีซี ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม4.0 เข้ามาเป็นรายการสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศทดแทน

ตลาดต้องการเทคโนโลยีใหม่

“การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทำให้สินค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ในท็อปเท็นของไทยหลายรายการเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลดลง แต่อีอีซีคือความหวังใหม่ที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยที่จะเน้นไฮเทคโนโลยีมากขึ้น และเทคโนโลยีใหม่คือความต้องการของตลาดแห่งอนาคต”

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญที่หดตัวได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบเดือนก.พ. ปี 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนปรับตัวลดลง 14.1% ขณะที่การส่งออกสะสม 2 เดือน ม.ค.-ก.พ.ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลง 12.1% เนื่องจากการหดตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง จีน และเนเธอร์แลนด์ สินค้าสำคัญที่หดตัวคือหมวดสินค้าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นสำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยี SSD ที่มีความจุมากกว่า เริ่มเข้ามาแทนที่มากขึ้น

สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก.พ. ลดลง 7.9% สะสม 2 เดือนลดลง 6.5% เนื่องจากการส่งออกรถยนต์หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์สันดาปของไทยชะลอตัวลงโดยเฉพาะออสเตรเลียที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เครื่องยนต์สันดาป อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก.พ.ลดลง 18.3% สะสม 2 เดือนลดลง 27.1% เนื่องจากการส่งออกหดตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้และฮ่องกงเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกับการส่งออกรถยนต์สันดาป เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยม และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในตลาด

สินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่อง

นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงสินค้าอุตสาหกรรม แต่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร หลายรายการปรับตัวลดลงเนื่องจากสภาพของสินค้านั้นๆ เอง โดย ข้าว ก.พ. ลดลง 21.5% สะสม 2 เดือน ลดลง 11.2% เนื่องจากการส่งออกลดลงในตลาดเบนิน และแอฟริกาใต้ จากการที่จีนเทขายข้าวส่วนเกินในสต๊อก รวมทั้งมีข้าวจากกัมพูชาและเมียนมาที่ถูกยุโปรตัดสิทธิจีเอสพี เข้ามาแข่งขันในตลาดอื่นๆ ของไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่าที่ทำให้ราคาขายของไทยเพิ่มขึ้น

ยางพารา ก.พ.ลดลง 15.8% สะสม 2 เดือนลดลง 15.5% หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากสงครามการค้าที่ยังไม่มีข้อยุติ และทำให้การนำเข้าของคู่ค้าชะลอตัว

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ก.พ. ลดลง 1.1% สะสม 2 เดือนลดลง 10.1% เนื่องจาก การหดตัวต่อเนื่องในตลาดจีนเพราะผลผลิตในไทยลดลงไทยต้องนำเข้าจากลาด เเละกัมพูชาเพื่อให้เพียงพอต่อการป้อนให้โรงงานผลิตนอกจากนี้ความต้องการเอธานอลในจีนลดลง ส่งผลถึงความต้องการมันสำปะหลังด้วย

กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ก.พ. ลดลง 15.6% สะสม 2 เดือนลดลง 11.8% เนื่องจาก การหดตัวในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และแคนาดา เนื่องจากกุ้งราคาถูกจากอินเดียเข้ามาตีตลาดมากขึ้น

เกษตรชีวภาพช่วยดันส่งออก

นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวว่า จากข้อมูลการส่งออกจะเห็นว่าสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจะเน้นการแข่งขันด้านราคาและส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเพื่อเป็นวัตถุดิบ เน้นการส่งออกจำนวนมากๆ ดังนั้้นหากตลาดมีความอ่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรทันที

ทำให้โครงการอีอีซี ซึ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากลุ่มสินค้าเกษตรในรูปแบบหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายคือเกษตรชีวภาพซึ่งจากนี้ ไทยก็จะส่งออกสินค้าที่เฉพาะเจาะจง เช่นการพัฒนาเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่กินปริมาณน้อยแต่ให้คุณประโยชน์มาก สินค้าส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการผลิตอาหารสำหรับผู้ที่แพ้สารหาอาหารต่างๆ เป็นต้น เมื่อถึงเวลานั้น สินค้าเกษตรไทยจะเป็นของที่จำเป็น ไม่ใช่ทางเลือกที่ต้องรอให้สถานการณ์ตลาดมากำหนดทิศทางราคาและอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกต่อไป

สำหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทย ได้แก่ 1.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3.อาวุธ กระสุน รวมทั้งส่วนประกอบ(เฉพาะเดือนก.พ.ที่ผ่านมา) 4.ผลิตภัณฑ์ยาง 5.เม็ดพลาสติก 6. อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ 7.เคมีภัณฑ์ 8. น้ำมันสำเร็จรุป 9. แผงวงจรไฟฟ้า 10. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
สำหรับโดยการส่งออกในเดือนก.พ. 2562 กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือนที่5.9% มีมูลค่า 21.6 พันล้านดอลลาร์ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำและอาวุธ การส่งออกหดตัวที่ 4.9%