'ช ทวี' คัด3เทคโนโลยี ประกอบชิ้นส่วนรถไฟฟ้า

'ช ทวี' คัด3เทคโนโลยี ประกอบชิ้นส่วนรถไฟฟ้า

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบให้จ.ขอนแก่น เป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา(LRT) หรือ แทรม

 ในเส้นทางสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 26,963 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2561 นับเป็นโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางเส้นทางแรกที่รัฐบาลมอบให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ

หลังจากการอนุมัติดังกล่าว 5 เทศบาลในจ.ขอนแก่น คือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลสำราญ รวมตัวจัดตั้งและจดทะเบียน บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการ ขณะเดียวกันยังมีการจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด (KKTT) ระหว่างองค์กรท้องถิ่นและกลุ่มธุรกิจชั้นแนวหน้าของจ.ขอนแก่น กว่า 20 บริษัท เพื่อลงทุนระบบขนส่งมวลชน และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง KKTT ฉายภาพถึงการเตรียมความพร้อมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจ.ขอนแก่นว่า ขณะนี้ทาง KKTS อยู่ระหว่างนำผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เคยศึกษาไว้เมื่อ 3 ปีก่อน มาปัดฝุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า จะใช้แล้วเสร็จใน 3 เดือน ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในการประมูล

จากนั้นจะกลับเข้าสู่ขั้นตอนออกหนังสือเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมรับฟังข้อมูลโครงการ ซึ่ง ช.ทวี ก็ต้องรอติดตามรายละเอียดจากทาง KKTS ด้วยว่าจะเดินหน้าขั้นตอนประมูลเดิม ที่ค้างไว้ในขั้นตอนการเปิดซองเอกสารข้อเสนอ หรือจะเริ่มต้นขั้นตอนเปิดประมูลใหม่ เนื่องจากข้อมูลโครงการถูกปรับเปลี่ยนไป ซึ่งก็พร้อมเข้าร่วมการประมูล

การเตรียมความพร้อมสำหรับพัฒนาแทรมในขอนแก่น ตอนนี้ทาง KKTT ก็อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ทเนอร์ต่างชาติ เพื่อเลือกระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามาปรับใช้ เบื้องต้นเจรจาไว้ 3 ประเทศ 3 เทคโนโลยี คือ 1.เทคโนโลยีจากจีน 2.เยอรมัน และ 3.สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีของระบบรถไฟ หรือ รถแทรม ไม่มีใครเหนือกว่าใครแล้ว เพราะจีนก็พัฒนาเป็นระบบสากลที่มีคนใช้งานทั่วโลก ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกระบบและตัวรถ คือความคุ้มค่า ในด้านราคาและการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อทำให้ไทยสามารถประกอบชิ้นส่วน ซ่อมบำรุงเองได้

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า เป้าหมายของ ช ทวี ตอนนี้เราเป็นเพียงจุดประกายเท่านั้น ในการอยากให้ขอนแก่นมีแทรมเกิดขึ้น อยากให้คนไทยเริ่มประกอบชิ้นส่วนรถไฟฟ้าเอง เพราะถูกลงกว่าการนำเข้าอย่างต่ำ 30% เทียบง่ายในกรณีของการนำเข้าเรือรบ มีมูลค่า 6 พันล้านบาท แต่เมื่อประกองเองถูกลงเหลือเพียง 3.5 พันล้านบาท รถไฟฟ้าก็เช่นกัน ดังนั้นรายละเอียดในการเลือกสเปคระบบรถ ตอนนี้ที่คิดไว้จะต้องไม่ซับซ้อน ไม่ยากเกินไป และควรเป็นเทคโนโลยีที่มีใช้ทั่วโลก

“ตอนนี้เราคุยกับเจ้าของเทคโนโลยีที่มีการใช้ทั่วโลกจาก 3 ประเทศหลักๆ แล้ว ก็ถือว่าเราเตรียมความพร้อมเรื่องซอฟแวร์เป็นอย่างดี เทคโนโลยีนี้มาจากไหน ราคาเท่าไหร่ คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ที่สำคัญเราคุยกับทั้ง 3 ประเทศว่า ขอนแก่นไม่อยากซื้อแพง แต่เราอยากได้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ไทยประกอยชิ้นส่วนรถไฟฟ้าเองได้”

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟแทรมขอนแก่น สายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) มีทั้งหมด 2 สัญญา โดย KKTS ได้ให้เอกชนยื่นข้อเสนอตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยการประมูลทั้ง 2 สัญญา ได้แก่ 1.งานจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้าง พร้อมทั้งผลิตและติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารรางเบา ประเภทรถราง (Tram) และการพัฒนาเมือง (Transit Oriented Development: OTD) หรือ งาน KK1 และ 2.งานจ้างเหมาปฏิบัติการเดินรถ การบำรุงรักษา และการบริหารจัดการพื้นที่สถานี และส่วนที่เกี่ยวข้อง (Operation, Maintenance, Service) ระยะเวลา 30 ปี หรือ KK2