'ศาลอาญา-บังคับคดีอัยการ' ทำ MOU ปรับผิดสัญญาประกัน

'ศาลอาญา-บังคับคดีอัยการ' ทำ MOU ปรับผิดสัญญาประกัน

"อธ.ศาลอาญา" มั่นใจความร่วมมือศาล-อัยการ เสริมประสิทธิภาพบังคับคดีเอาเงินโทษปรับ-ผิดสัญญาประกันเข้ารัฐ เคยทำได้ร่วม100ล้าน ตอนนี้ค้าง 3,000เรื่อง นับ 1.3พันล้าน

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.62 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และนายชาตรี สุวรรณิน อธิบดีอัยการสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับโทษปรับ และการบังคับคดีผู้ประกันกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญา โดยมี นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารศาลอาญา และจากสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว

โดย นายบุญชู กล่าวว่า สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับศาลอาญา ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งสองฝ่าย ดำเนินการบังคับโทษปรับและการบังคับคดีผู้ประกันกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญา ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานทั้งสองฝ่าย เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี นอกจากนี้ยังสนับสนุนการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความเชี่ยวชาญในการป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ให้สามารถรวบรวมทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับหรือผู้ประกันในคดีอาญามาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อศาลได้ ตลอดจนป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินในรูปแบบดิจิทัล รวมทั้งทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองฝ่ายอันจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินต่อไป ทั้งนี้สำหรับการบังคับคดีผู้ประกันกรณีผิดสัญญาประกันในส่วนนี้ มีที่ค้างในศาลอาญาประมาณ 3,000 เรื่อง มูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงจะช่วยให้สามารถติดตามเงินกับมาให้กับรัฐได้ โดยปีที่ผ่านมาก็สามารถนำเงินส่วนนี้เข้ารัฐได้ กว่า 100 ล้านบาท

ด้าน นายชาตรี กล่าวว่า พนักงานอัยการ และเจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้ง ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบังคับคดี การบรรลุข้อตกลง MOU ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ จะส่งผลให้การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานทั้งสองเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานของอัยการสูงสุดด้านการพัฒนาองค์กรอัยการ ในการนำระบบเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง สามารถรองรับการให้บริการแก่ประชาชนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และสอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกา แผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2560-2564 ป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินในรูปแบบดิจิทัล พัฒนาบุคลากรให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อการไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ตลอดจนทำให้เกิดประโยชน์ในการบังคับคดี การพัฒนางานด้านการบังคับคดี การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งเป็นเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย

นายชาตรี กล่าวอีกว่า การบังคับโทษปรับ และการบังคับคดีผู้ประกันในคดีอาญา ถือเป็นอำนาจหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของพนักงานอัยการสำนักงานการบังคับคดี ที่มีภารกิจในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ , ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีกับผู้ต้องโทษปรับและผู้ประกันในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29/1 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 119 มีอำนาจในการตรวจสอบสถานะและทรัพย์สินโดยคำสั่งของพนักงานอัยการ ในการให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินถือเป็นคำบังคับของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.องค์การอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 16 , 18 , 23 กำหนดไว้ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ สำนักงานการบังคับคดี สามารถบังคับได้ ณ วันที่ 31 มี.ค.62 ในส่วนของการบังคับโทษปรับ สามารถบังคับคดีได้รับเงิน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 75,596,731.04 บาท และการบังคับคดีผู้ประกันในคดีอาญาสามารถบังคับคดีได้รับเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 86,061,124.21 บาท เช่น การบังคับคดีโทษปรับในคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง บริษัท อีซี่เน็ตเวิร์ค จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คนเป็นจำเลย สำนักงานการบังคับคดีสามารถอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนประมาณ 91 ล้านบาท และนำส่งเงินค่าปรับต่อศาลอาญาแล้วเป็นเงินจำนวน 41,510,702.96 บาท การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าน่าจะส่งผลให้สามารถบังคับคดีได้รับเงินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก.