หอฯ-ส.อ.ท.ชงลุยต่อ 'อีอีซี'

หอฯ-ส.อ.ท.ชงลุยต่อ 'อีอีซี'

รัฐบาลใหม่ควรมีมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีในอีอีซี ให้สามารถเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมฯ ได้3 ข้อ1.พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในนิคมฯ ควรมีราคาต่ำกว่าพื้นที่แปลงใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่

ภาคเอกชน เสนอแกนนำตั้งรัฐบาล ผลักดันอีอีซีต่อ สภาอุตฯ แนะ เพิ่มมาตรการหนุนเอสเอ็มอีตั้งโรงงานในนิคมฯ หอการค้าตะวันออก กังวลเปลี่ยนรัฐบาลกระทบเมกะโปรเจคล่าช้า แนะ รัฐ-นักลงทุนจับเข่าคุยเคลียร์ผลประโยชน์เมกะโปรเจคเพื่อให้เดินหน้า
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกขับเคลื่อนด้วย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว นโยบายอีอีซีจะถูกผลักดันต่อ โดยพรรคการเมืองที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีแผนที่จะผลักดันอีอีซีต่อเพียงแต่พรรคเพื่อไทยจะขอทบทวนโครงการเมกะโปรเจค เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

นางอรพินท์ เสริมประภาศิลป์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรจะปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานในอีอีซี คือ การกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมมีพื้นที่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ โดยเอสเอ็มอีอยู่นอกนิคมฯ ขยายกิจการได้ยากเพราะติดปัญหาผังเมือง

หอฯ-ส.อ.ท.ชงลุยต่อ 'อีอีซี'

ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรมีแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 ข้อ 1.พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในนิคมฯ ควรมีราคาต่ำกว่าพื้นที่แปลงใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ 2.แบ่งพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเป็นแปลงขนาดเล็กขนาด 1-2 ไร่ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีกำลังเข้าถึงได้ 3.เตรียมพื้นที่เอสเอ็มอีให้อยู่รวมกันในเขตเดียวกัน เพื่อป้องกันการดึงตัวแรงงานจากโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งแม้โรงงานเอสเอ็มอีจะจ่ายค่าแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด แต่บางครั้งมีสวัสดิการต่างจากโรงงานขนาดใหญ่ หากให้เอสเอ็มอีอยู่ร่วมกับโรงงานขนาดใหญ่อาจถูกดึงแรงงานได้

“ราคาที่ดินในนิคมฯสำหรับเอสเอ็มอีควรเป็นราคาพิเศษ ที่เอสเอ็มอีไทยเข้าไปอยู่ได้ ซึ่งอาจต่ำกว่าปกติ 10% โดยภาครัฐอาจต้องมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางด้าน เช่น การผ่อนจ่ายค่าที่ดินในนิคมฯ ระยะยาว ดอกเบี้ยราคาพิเศษ อุดหนุนค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเพื่อให้ต่ำกว่าโรงงานขนาดใหญ่”

เสนอเพิ่มพื้นที่อุตสาหรรม

นอกจากนี้ รัฐบาลควรแก้ผังเมืองอีอีซีเพื่อเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเห็นด้วยที่จะต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเกษตร และการท่องเที่ยว แต่ควรจะแบ่งพื้นที่บางส่วนสำหรับภาคอุตสาหกรรมบ้าง โดยเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่พื้นที่เกือบทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการเกษตร โดยใน 11 อำเภอ ของฉะเชิงเทรา ควรจะมี 3-4 อำเภอ ที่เป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม แต่ในขณะนี้ไม่มีเลย ทำให้โรงงานที่ตั้งอยู่ก่อนการออกผังเมืองขยายพื้นที่ได้เพียง 1 เท่า ของที่ดินเดิม

นางอรพินท์ กล่าวว่า การกำหนดแผนการใช้ที่ดินในอีอีซี ควรให้โรงงานแปรรูปการเกษตรเข้าไปตั้งในพื้นที่เกษตรที่เป็นวัตถุดิบได้ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบ และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพ ใช้จุดเด่นของภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งโรงงานที่เข้ามาตั้งในพื้นที่เกษตรจะต้องกำหนดให้เป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตที่ไม่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าโครงการ อีอีซี จะเกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก และอีอีซี จะเป็นโมเดลการพัฒนาพื้นที่ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ดังนั้นไม่ว่าใครจะขั้นมาเป็นรัฐบาล ควรจะสานต่อโครงการนี้ต่อไป

ห่วงเมกะโปรเจคล่าช้า

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าอีอีซีต่อเพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งมีอีกหลายส่วนที่ต้องดำเนินการต่อ เพราะหลายเรื่องยังเป็นประเด็นและไม่เดินหน้า เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน โดยบางโครงการเปิดประมูลแล้วแต่ยังติดขัดด้านการเจรจา เช่น รถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาขนส่งสาธารณะหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง โดยปัจจุบันเมื่อลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภาจะเดินทางเข้าเมืองแต่ไม่มีรถสาธารณะ ซึ่งรถสาธารณะต้องเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่ตอบสนองผู้ที่มีรายได้น้อย ค่าบริการจึงต่ำส่งผลให้การบริการไม่มีคุณภาพ

“โครงการอีอีซีคงล่าช้าอีกเพราะกว่าจะมีรัฐบาลใหม่อาจใช้เวลาหลายเดือน รวมทั้งรัฐบาลอาจต้องมาพิจารณาประมูลใหม่ แต่คิดว่ารัฐบาลใหม่ต้องผลักดันอีอีซีต่อ เพราะไทยไม่มีจุดขายใด และถ้าเลือกพัฒนาประเทศและอาศัยการท่องเที่ยวอย่างเดียวคงไม่ได้“

ชงจัดการศึกษารูปแบบพิเศษ

ทั้งนี้ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่รีบดำเนินการทันทื คือ สร้างระบบการศึกษาในพื้นที่หลายรูปแบบ โดยถ้ายังอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการที่มีโครงสร้างที่ใหญ่จะไม่ทันกับการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด ซึ่งต้องปฏิรูปการศึกษา เช่น แยกพื้นที่พิเศษเพื่อผลิตบุคลากรให้ตอบสนองอีอีซี โดยมีโครงสร้างแยกจากกระทรวงศึกษาธิการและมีการบริหารที่เป็นอิสระ โดยจัดการศึกษาทุกระดับ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาซีวศึกษา

นอกจากนี้ การทำร่างผังเมืองรวมอีอีซีควรเอื้อต่อการพัฒนา โดยผังเมืองจะเป็นตัวชี้ว่าพื้นใดลงทุนได้ เพราะหากไปซื้อพื้นที่เพื่อสร้างโรงงาน แต่ภายหลังผังเมืองเป็นสีเขียวก็จะมีปัญหา

รวมถึงการผลักดันเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 โดยมีแผนใช้พื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นหลัก ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่มีหน่วยงานใน 3 จังหวัด ซึ่งต่างกับกระทรวงอื่นที่มีหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสหกรรมจังหวัด

จี้ รบ.ใหม่ชัดเจนนโยบายอีอีซี

นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่หอการค้าต้องการให้รัฐบาลใหม่สานต่อโครงการอีอีซี อยากเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงมาถึงจ.ระยอง รวมทั้งอยากเห็นการเดินหน้าสร้างสนามบินอู่ตะเภาเฟส 2 เพราะคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์ ความเจริญการพัฒนาจังหวัดก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งหอการค้าจังหวัดระยองนำเรื่องการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลัก เพราะการท่องเที่ยวมีความหลากหลาย
“อีอีซีต้องชัดเจน ถ้าอีอีซีไม่เกิดประเทศก็จะสูญเสียการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เพราะการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ต้องผลักดันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องพัฒนาที่อีอีซี ส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้า ทำให้นักลงทุนเองไม่กล้าตัดสินใจเพรารอดูว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่"