'แรงงานข้ามชาติ' กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

'แรงงานข้ามชาติ' กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ถกการจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ชูเป็นนโยบายประเทศ ชิงโอกาส ไทยกับวาระประธานอาเซียน

โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย จัดการประชุมวิชาการในหัวข้อเรื่อง “การจัดการแรงงานข้ามชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย: นัยยะเชิงนโยบาย” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ผศ.ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ลูวิส ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ และ รศ.ดร.เรณู สุขารมณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายชุมชนและสังคม และ นักวิจัย พร้อมทั้งหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ผศ.ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ลูวิส กล่าวถึงการจัดการประชุมครั้งนี้ ว่า สกว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการแรงงานข้ามชาติ อันเป็นผลจากแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประเทศไทยต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานเข้มข้น ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่า “แรงงานข้ามชาติ” มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุนี้ทาง สกว. จึงต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ในเรื่องแรงงานข้ามชาติออกสู่สังคม เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากการศึกษาไปใช้ประโยชน์ต่อไป 

3_4        

จากนั้น รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อเรื่อง “การจัดการแรงงานข้ามชาติในต่างประเทศกับการพัฒนาเศรษฐกิจ: บทเรียนสำหรับประเทศไทย” โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยของการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย สำหรับปัจจัยผลัก (Push Factor) ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย คือ รายได้ต่อหัวโดยเปรียบเทียบของไทยสูงกว่าประเทศต้นทาง และสัดส่วนคนจนในไทยโดยเปรียบเทียบกับประเทศต้นทางที่น้อยกว่า เมื่อบวกกับปัจจัยดึง (Pull Factor) ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกิดการไหลเข้าของแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

รัฐไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามในการพัฒนานโยบายแรงงานข้ามชาติ ภายใต้มิติ 4 เสา ได้แก่ ความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สิทธิและการคุ้มครองแรงงาน และการประสานสังคมภายใต้พหุวัฒนธรรม จึงกล่าวได้ว่าการจัดการแรงงานข้ามชาติให้มั่นคงและยั่งยืนจำเป็นต้องบูรณาการทั้ง 4 เสา ในหัวข้อการบรรยายนี้ รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่เริ่มมีนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติ ปี 2535 นั้น ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ทางการไทยสามารถดึงแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายให้ขึ้นมาถูกกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดีของการพัฒนา

“แม้ว่าจะยังไม่สามารถบูรณาการได้ทั้ง 4 เสา เนื่องจากปัญหาบางประการ เช่น ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์การรับเข้าแรงงานต่างชาติที่ไม่มีการจำกัด และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่ซับซ้อนและมีราคาสูง อีกทั้งการจัดการยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต้นทาง ทั้งนี้ประเทศไทยเองการจัดการยังต้องบูรณาการกับหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ในการจัดการแรงงานต่างชาติที่ยังมีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมแล้วนั้น ทิศทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ยังถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดีที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้”

 ในของการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ อาจารย์กิริยา นำเสนอบทเรียนการจัดการแรงงานข้ามชาติของประเทศสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยทั้งสองประเทศมีจุดร่วมของการจัดการนั่นก็คือ การมียุทธศาสตร์ในการจัดการที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน โดยแรงงานที่รับเข้ามาของทั้งสองประเทศล้วนต้อนรับแรงงานที่มีฝีมือ บทเรียนสำหรับประเทศทั้งสองจึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศไทยที่ต้องกลับมาทบทวนบทบาทและการบริหาร เมื่อประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4.0 ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องการแรงงานที่มีฝีมือมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

2_8

งานวิจัยนี้ได้ส่งคำถามสำคัญไปสู่สังคมว่า ปัจจุบันนั้นประเทศไทยกำลังพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือมากเกินไปหรือไม่ เมื่อประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่การพัฒนาในอีกระดับ ทั้งนี้แรงงานต่างชาติที่เข้ามาในปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่เพียงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว กัมพูชาเท่านั้น แต่ยังมีการไหลเข้ามาของแรงงานจีน อินเดีย บังคลาเทศที่ทางภาครัฐควรมีนโยบายการจัดการแรงงานเหล่านี้เช่นกัน

ขณะที่ รศ.ดร. สุรีย์พร พันพึ่ง จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “นโยบายดึงดูดแรงงานข้ามชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย” โดยชี้ให้เห็นในเบื้องต้นถึงโจทย์สำคัญที่สังคมไทยกำลังเผชิญนั่นก็คือ ประเทศไทยไม่สามารถผลิตกำลังแรงงานในสอดคล้องกับความต้องการแรงงานมีฝีมือในตลาดปัจจุบัน เนื่องจากการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรที่ล้ำหน้าและก้าวทันเทคโนโลยีได้ ในแง่ของประเด็นด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลยังต้องใช้เวลานาน จึงกล่าวได้ว่าในตลาดแรงงานไทยเกิดการไม่ตอบโจทย์กันระหว่างกำลังแรงงานและความต้องการแรงงานมีฝีมือ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวนโยบายดึงดูดแรงงานข้ามชาติเพื่อให้แรงงานเหล่านั้นเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ และแรงงานไทยสามารถดูดซับองค์ความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาต่อไป

อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลทางด้านอุปสงค์และอุปทานแรงงานทักษะสูงที่ชัดเจนมากพอ รวมทั้งข้อมูลแรงงานไทยที่มีทักษะสูงในต่างประเทศ ที่จะดึงดูดกลับมาเช่นกัน ดังนั้นจึงมีการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีฝีมือ โดยการทบทวนบทบาทหน้าที่ของ “ศูนย์บุคคลากรทักษะสูง” โดยเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment :BOI) ที่ต้องดูแล รวมถึงการดูแลในเรื่องของ Smart VISA ซึ่งต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น กำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การอยู่อาศัยของผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะสูง และส่งเสริมนโยบายสิทธิพลเมืองและการบูรณาการทางสังคมให้แก่แรงงานต่างชาติ สร้างความรู้สึกร่วมเพื่อให้แรงงานเหล่านั้นอยากจะทำเพื่อประเทศและเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา

ในช่วงสุดท้ายของการประชุม ผศ.ดร. สุทธิพร บุญมาก จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ บรรยายในหัวข้อ “การจัดการแรงงานข้ามชาติ กับการพัฒนาเศรษฐกิจ: กรณีศึกษา สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน” ซึ่งชี้ให้เห็นมุมมองที่ต่างกันของการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน โดยเปรียบเทียบกับประเทศไทย โดยใน 3 ประเทศมีมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติในฐานะทุนมนุษย์ จึงมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุน ทั้ง 3 ประเทศต่างมีนโยบายที่เสาะหาแรงงานที่มีทักษะตอบสนองแก่ยุทธศาสตร์ประเทศ มีการกลั่นกรองทุนมนุษย์ที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มองแรงงานต่างชาติในแง่ของภัยความมั่นคง ทางไทยจึงมีนโยบายในการป้องกันมากกว่าที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะให้มีการปรับมุมมองในการมองแรงงานในฐานะ Labor ให้เป็นทุนมนุษย์ในฐานะ Manpower ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่กำกับดูแลแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะ ในส่วนของ Smart VISA ที่ถือว่าเป็นเกณฑ์เบ็ดเสร็จในการเข้าเมือง ยังกำหนดเกณฑ์ไว้สูงมาก ไม่ยืดหยุ่นที่จะต้อนรับแรงงานต่างชาติ โดยในส่วนท้ายของหัวข้อดังกล่าวได้ชี้เห็นบทเรียนที่สำคัญของ 3 ประเทศดังกล่าว ว่านโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติของทั้ง 3 ประเทศนั้นมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่สมัยนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า มาจนถึงนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ตลอดจนนโยบายดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเมื่อการพัฒนาประเทศในปัจจุบันต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น สำหรับประเทศไทยจึงควรมีการถอดบทเรียนความสำเร็จจากการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพ นำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต