โฆษกศาลฯ แจงเหตุพ่อเครียดกระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญารัชดาสาหัส

โฆษกศาลฯ แจงเหตุพ่อเครียดกระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญารัชดาสาหัส

"โฆษกศาลฯ" แจงเหตุพ่อเครียดกระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญารัชดาสาหัส ศาลไม่นิ่งนอนใจพร้อมระวังไม่เกิดซ้ำซ้อน แต่เหตุเป็นเรื่องไม่คาดฝัน ส่วนคดีสืบพยานครบถ้วนหลักฐานฟังลงโทษได้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 มี.ค.62 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสุริยันต์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงกรณีชายกระโดดจากชั้น 8 ศาลอาญาภายเช้าวันนี้ หลังร่วมฟังคำตัดสินคดีที่ลูกชายเป็นจำเลยฆ่าผู้อื่นฯ จนได้รับบาดเจ็บแขน-ขาหัก ว่า ได้รับรายงานว่าผู้ที่กระโดดลงมา ขณะนี้มีสติ พูดคุยได้ แต่แขน-ขาหัก เนื่องจากตอนกระโดดลงได้ไปติดกับต้นไม้ก่อนจะร่วงลงมา ส่วนคดีที่ตัดสินนั้น อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องว่าจำเลย ( นายภัทรพงศ์ หรือต้อย เครือนาค บุตรของชายที่กระโดดตึกลงมา) กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

โดยใช้มีดทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ รพ.ราชวิถี ซึ่งคดีมีการสืบพยานทั้งสองฝ่าย จนมาอ่านคำพิพากษาในวันนี้ องค์คณะผู้พิพากษาได้ใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัย ชั่งน้ำหนักจากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายและมั่นใจว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ สามารถที่จะมองว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จก็ได้ควบคุมตัวจำเลย เท่าที่ทราบรายงานจากเจ้าหน้าที่ บิดาของจำเลยมีอาการที่แสดงถึงความเครียดก็ได้เข้ามากอดลูก มีการพูดเปรยออกมาว่า “หากนำตัวลูกผมไปจำคุกตลอดชีวิต ผมขอไปด้วยดีกว่า” และเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เท่าที่ทราบขณะเกิดหตุไม่มีผู้ใดเห็นเหตุกาณ์ การตัดสินใจกระโดดตึกดังกล่าว เป็นการตัดสินใจที่กะทันหัน

นายสุริยันต์ กล่าวชี้แจงว่า การพิจารณาคดีของศาลไม่พบสิ่งผิดปกติ เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีเหมือนคดีอาญาทั่วไป มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีก็ไม่มีสัญญาณอะไรที่จะบอกถึงเหตุความรุนแรง ส่วนเรื่องความเครียดก็ต้องเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกคดีของศาลที่จะมีความเครียดปกคลุมในทุกๆ ฝ่าย เพราะการเป็นความกันในศาล คู่ความก็ต้องมีความทุกข์ด้วยกัน ส่วนผู้พิพากษาเองก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้ดีที่สุด และจะต้องถอนตัวเองออกจากอารมณ์และความรู้สึกเพื่อที่จะตัดสินคดีปราศจากอคติ เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ เคยเกิดเหตุการณ์ที่บิดาของผู้ตายในคดีหนึ่ง เคยโดดอาคารศาลอาญาชั้น 8 มาแล้วภายหลังร่วมฟังคำพิพากษาที่บุตรชายเสียชีวิตซึ่งคดีนั้นศาลยกฟ้องจำเลย ศาลยุติธรรมจะเตรียมการเพื่อระมัดระวังรักษาความปลอดภัย กรณีแบบนี้อย่างไรบ้าง

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า จากที่มีการเกิดเหตุครั้งที่แล้ว เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมนำมาสู่ความเศร้าเสียใจของทุกฝ่าย เราเองในฐานะเป็นหน่วยงานราชการก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงการให้บริการประชาชน อย่างเรื่องดูแลความปลอดภัยประชาชน ที่จะเข้ามาสู่การพิจาณาคดีของศาล เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการรักษาความปลอดภัยตัวบุคคล ล่าสุดกฎหมายก็ออกมาให้เรามีเจ้าพนักงานตำรวจศาล ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการเพิ่มเจ้าฝงพนักงานตำรวจศาลทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายเพิ่งประกาศใช้ เพื่อให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยแก่บุคคลากรของศาลและประชาชนทุกคนที่มาใช้บริการศาล ตอนนี้เราอาจมีบุคคลากรด้านนี้ไม่เพียงพอ หากเรามีเจ้าพนักงานตำรวจศาลก็จะเข้า มาช่วยในด้านนี้ได้ เราจึงมั่นใจว่าในระยะยาวเหตุการณ์เหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้น้อย

ส่วนที่ 2 ด้านกายภาพตัวอาคารสถานที่ ถ้าเป็นอาคารศาลสร้างใหม่ สำนักออกแบบอาคารและสถานที่ก็จะพิจารณาในรูปแบบมาตรการป้องกันความปลอดภัยซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ แต่ในส่วนอาคารเดิม เช่น อาคารศาลอาญาที่ใช้งานมานาน การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วนัก เพราะความปลอดภัยของตัวอาคารนอกจากเรื่องป้องกันการ กระโดดตึก เราต้องดูความปลอดภัยเรื่องอัคคีภัยและเรื่องอื่นๆ ประกอบกันด้วย ขณะนี้ทีมงานก็กำลังทำงานกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ญาติคู่ความโดดตึกครั้งที่แล้ว สำนักงานศาลยุติธรรม และศาลอาญาได้พูดคุยร่วมมือกันตลอดเพื่อหาทางแก้ไขให้ดีที่สุด โดยเราแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ต้องไม่เป็นการแก้ปัญหาใหม่ขึ้น

ทั้งนี้ โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวตอบปัญหาถึงการทำความเข้าใจขั้นตอนในการพิจารณาคดีนี้ด้วยว่า คดีนี้ทนายความของจำเลย ก็เป็นลุงของจำเลย โดยเท่าที่ได้พูดคุย กับ ผอ.ศาลอาญา ทราบว่าทนายจำเลยได้ยืนยันว่าทำความเข้าใจกับญาติของจำเลย และปลอบโยนว่าคำพิพากษาที่จะอ่าน ยังไม่ใช่คำพิพากษาที่ถึงที่สุด ยังสามารถที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาได้อีก แต่อาจจะเป็นเพราะความเครียด พ่อจำเลยอาจไปคิดเองว่าศาลอุทธรณ์จะตัดสินตามศาลชั้นต้น มีความเข้าใจผิดจนทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น

อย่างไรก็ดี ปกติแล้วในคดีที่มีอัตราโทษสูง ก็มีสิทธิที่จะดำเนินไปจนครบทั้ง 3 ชั้นศาลได้ โดยผู้พิพากษาเองก็ทำหน้าที่พิจารณาพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ แต่แน่นอนว่าผลของคำพิพากษาจะมีทั้งฝั่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจอยู่เสมอ แต่ตนขอยืนยันว่าคำพิพากษาจะต้องถูกต้องตามความเป็นจริงในสำนวน ซึ่งเป็นดุลยพินิจที่อิสระของผู้พิพากษา ศาลชั้นต้นตัดสินมาคู่ความไม่พอใจ ก็สามารถอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ และเมื่อคดีไปศาลอุทธรณ์ องค์คณะของศาลอุทธรณ์ก็ใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระเช่นกัน โดยอาจจะเห็นตาม หรือโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก็ได้
ทั้งนี้ นายสุริยันต์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวในตอนท้ายว่า การกระทำในลักษณะนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลทางคดีเลย จะเกิดแต่เพียงความเศร้าเสียใจของคนรอบข้าง ก็อยากให้ทุกคนใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้เต็มที่ก่อน "เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ก็ได้แต่หวังว่าผู้คนจะเข้าใจกระบวนการยุติธรรมว่าเดินทางอย่างไร และศาลยุติธรรมทำงานกันอย่างไร อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของเราว่าเราทำอย่างเต็มที่ที่สุด และทางออกของปัญหาทั้งหมดสามารถมีได้โดยไม่ต้องใช้วิธีนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ขอให้เป็นอุทาหรณ์เป็นครั้งสุดท้าย หากต่อไปมีความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ขอให้ใช้ทางออกตามกฎหมาย"