มอบรางวัลนักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่น-รางวัลเกียรติยศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

มอบรางวัลนักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่น-รางวัลเกียรติยศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

รมว.สธ. มอบรางวัลนักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่นและรางวัลเกียรติยศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ประจำปี 2562 ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จิตอาสา ทั้งภาครัฐและเอกชน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.62 ณ หอประชุมอัจฉรา สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การแก้ปัญหาการบาดเจ็บและตายจากการจราจร : Traffic Safety” พร้อมมอบรางวัลนักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่นระดับชาติ 12 รางวัล รางวัลเกียรติยศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 12 รางวัล แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จิตอาสา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นแบบอย่างผู้ทำคุณประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ และหนังสือแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แก่แพทย์ผู้สอบผ่านเพื่อหนังสืออนุมัติ/วุฒิบัตรสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน 150 คน โดยในปีนี้ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลนักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่น สาขาสาธารณสุขศาสตร์

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การแก้ปัญหาการบาดเจ็บและตายจากการจราจร ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน NGO บูรณาการการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม กระทรวงสาธารณสุขได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการข้อมูล ติดตามประเมินผลการบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งการตอบสนองหลังจากเกิดเหตุ ได้เร่งรัดผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพื่อปฏิบัติงานที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน นอกจากนี้ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยยังได้จัดฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การจราจร ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการบาดเจ็บและทุพพลภาพจากการจราจร สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุขพบว่า แต่ละวันมีผู้บาดเจ็บกว่า 3,600 คน นอนโรงพยาบาล 400 กว่าคน และพิการปีละกว่า 6,000 คน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน 8 ประการ ได้แก่ 1.พัฒนาจัดการความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีความเข้มแข็ง 2.ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 3.ลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ 4.แก้ไขปัญหาจุดอันตราย ให้จุดเสี่ยงทุกจุดได้รับการแก้ไข 5.ปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกําหนด 6.ยกระดับมาตรฐานยานพาหนะให้ปลอดภัย 7.พัฒนาสมรรถนะของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย 8.พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้การบริการ การรักษาและฟื้นฟูผู้บาดเจ็บได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

“จักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถด้วยความเร็วสูง ดังนั้นการให้ความรู้และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง รวมทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหา ทำให้ลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ได้ดูแลหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านผ่านรับรองจากแพทยสภา 9 แขนง มีสมาชิกและแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกันกว่า 2,000 คน