คมนาคมหนุนตั้งรง.รถไฟ รองรับโครงสร้างพื้นฐาน

คมนาคมหนุนตั้งรง.รถไฟ รองรับโครงสร้างพื้นฐาน

"ไพรินทร์" เผยแผนตั้งโรงงานผลิตรถไฟเองลดนำเข้า หลังไทยลุยแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบต่อเนื่อง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนจะส่งเสริมให้ภาคเอกชน“จัดตั้งโรงงานผลิต ประกอบรถไฟในประเทศ”เพราะปัจจุบันไทยนำเข้ารถไฟฟ้ามาจาก 5 ประเทศ คือ เยอรมนี, ตุรกี, จีน, ออสเตรีย, ญี่ปุ่น โดยแต่ละผู้ประกอบการก็มีซัพพลายเออร์ และมาตรฐานที่หลากหลาย

สำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถไฟฯจะคุ้มทุนเมื่อมีการผลิตตู้รถไฟใหม่กว่า 300 ตู้ต่อปี ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งกรมราง เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการควบคุมระบบราง รวมถึงร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)ช่วยกันพิจารณาออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นคนกลางของการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางรถไฟในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ได้มีการหารือให้เริ่มดำเนินการในปี2563 -2564 คาดว่าไทยจะสามารถตั้งโรงงานได้ 3 แห่งมียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้ต่อปีในปี 2570 ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสม คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการประกอบรถโดยสารสาธารณะอยู่แล้วและสามารถส่งออกไปCLMVได้ด้วย

หากโครงการสำเร็จจะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 10 เท่า จากเดิมมีการนำเข้ากว่า 70,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิต ประกอบในไทยจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาทเท่านั้น ลดค่าใช้จ่ายการซ่อม-บำรุงรักษา ได้อีกกว่า ปีละ 1,000 ล้านบาท การจ้างงานอีกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ