หอฯตากโอด พรรคการเมืองไร้นโยบายการค้าชายแดน

หอฯตากโอด พรรคการเมืองไร้นโยบายการค้าชายแดน

ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก ชี้การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองไม่ให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอดมีมูลค่าการค้าไทย-เมียนมาสูงถึงปีละ 80,000 ล้านบาท จี้รัฐบาลใหม่เดินหน้าระดับนโยบายการค้าชายแดนให้ชัดเจน

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยถึงการเลือกตั้งของประเทศไทยในครั้งนี้แทบจะไม่มีพรรคการเมืองไหนให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน หรือชูนโยบายยกระดับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน แตกต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด ถือว่าเป็นประตูการค้าสำคัญในการค้ากับประเทศเมียนมา และเชื่อมต่อไปยังยุโรป มีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมาสูงถึงปีละ 80,000 ล้านบาท แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองไหนเข้ามาเปิดประเด็นว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่นี้่อย่างไร

ก่อนหน้านี้ ทาง คสช.ได้เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่งร่วมกับเมียนมา เปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และขณะนี้สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าสู่จังหวัดเมียวดีได้ทุกวันและตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปจากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังชายแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แล้ว แต่แนวทางการขับเคลื่อนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างนิคมอุตสาหกรรมยังไร้ทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงน่าจะต้องมีการวางกรอบแนวความคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโฉมใหม่ หรือแม้แต่พื้นที่ที่จะสร้างนิคมฯ ใกล้กับสะพานมิตรภาพฯ อาจจะเปลี่ยนเป็นดิวตี้ฟรี, เอนเตอร์เทนเม้นท์, ที่พัก แทนภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น ทางรัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาทบทวน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยเร็วที่สุด โดยทางภาคเอกชนได้เสนอผ่านทาง กกร.จังหวัดตาก ขอให้มีการแก้ไขความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างไทยกับเมียนมา ให้ครอบคลุมผู้เดินทางผ่านจุดผ่านแดนถาวรทางบกและท่าเรือระหว่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนกับเมียนมาและยังเชื่อมต่อไปยังสมาชิกอาเซียนในด้านตะวันตก ทั้งจีน อินเดีย บังคลาเทศและกลุ่มประเทศ CLMV ตลอดจนทำให้เกิดการคล่องตัวของประชาชน นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจทั้งสองประเทศสามารถเดินทางเข้าออกได้อย่างสะดวก

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันนี้ระหว่างไทย-เมียนมามีข้อตดลงให้รถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้วันละ 500 คัน แต่เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เปิดแล้ว จะต้องมีการทบทวนให้สามารถมีจำนวนรถบรรทุกเดินทางเข้าออกได้เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของการค้าชายแดน โดยอาจจะต้องจัดระเบียบให้โควตาเบอร์รถ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม