ศาลฎีกายกฟ้อง 'พล.ต.ท.สมคิด-พวก' คดีอุัมฆ่านักธุรกิจซาอุฯ

ศาลฎีกายกฟ้อง 'พล.ต.ท.สมคิด-พวก' คดีอุัมฆ่านักธุรกิจซาอุฯ

พิพากษายืน3ศาล! ศาลฎีกายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด - 4 อดีตตำรวจ พ้นผิดข้อกล่าวหาอุ้มฆ่า "อัลรูไวลี่" นักธุรกิจซาอุฯ ชี้หลักฐานอัยการไม่ชัด

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย หมายเลขดำ อ.119/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน (ตำแหน่งปี 59) , พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี (ตำแหน่งปี 59) , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ

เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ , ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดฯ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 289 , 309 , 310 และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางคืน ให้แก่ทายาทของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ ด้วย ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 12 ม.ค.53

บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิม นิกายชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.32 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทยเสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯแจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้นและกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง

แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.33 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯอีก 2 ครั้ง เสียชีวิตรวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อ.ตร. (ขณะนั้น) ติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ กระทั่งระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ.33 ต่อเนื่องกันจำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ. ตำแหน่ง รอง สว. จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งพวกจำเลยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ

โดยจำเลยกับพวก บังอาจร่วมกันลักพาตัว นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ ซึ่งเป็นพระญาติกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ เนื่องจากจำเลยทั้งหมดเข้าใจว่า นายอัลรูไวลี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย โดยจำเลยบังคับนำตัวนายอัลรูไวลี่ ไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆมีวัตถุประสงค์เพื่อซักถามข้อเท็จจริง เพื่อให้นายอัลรูไวลี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ

ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาฆ่านายอัลรูไวลี่ จนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายอัลรูไวลี่มาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา คำฟ้องระบุด้วยว่าจำเลยทั้งห้ายังได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อยทำร้ายร่างกายนายอัลรูไวลี่ โดยวิธีการต่างๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ โดยนำศพของนายอัลรูไวลี่ ไปเผาทำลายภายในไร่ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังการตายหรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกี่ยวพันกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย.52 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของ นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วงของกลาง จำเลยทั้งห้า แถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาวันที่ 31 มี.ค.57 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานโจทก์ปากสำคัญเข้าเบิกความต่อศาล มีเพียงบันทึกคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย เท่านั้นทั้งยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยเกี่ยวกับแหวนทองคำของผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาวันที่ 3 พ.ค.59 เห็นว่า คำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ที่เคยไปให้การกับดีเอสไอที่นำมาอ้างว่าตัวเองเป็นผู้พบเห็นนายโมฮัมหมัดด้วยตัวเองที่โรงเเรมเเละพบเเหวนของนายโมฮัมหมัดตั้งเเต่ปี 2546 ซึ่งควรที่จะนำมาให้พนักงานสอบสวนในขณะนั้นเเต่กลับปล่อยเวลาทิ้งไว้ถึง 5 ปีเเล้วค่อยนำแหวนไปซ่อมก่อนมามอบให้พนักงานสอบสวนซึ่งอาจทำให้หลักฐานเสื่อมสลายไปได้ ขณะที่เจ้าของร้านเพชรแลละช่างซ่อมเเหวน เบิกความว่า เเหวนที่นำมาซ่อมนั้น ไม่มีร่องรอยไฟไหม้ ทั้งที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย อ้างว่าได้เเหวนมาจากจำเลยที่ 4 ที่นำมาจากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตรที่เผาทำลายนายโมฮัมหมัด ประกอบกับญาติของนายโมฮัมหมัดก็ไม่อาจยืนยันว่าเเหวานดังกล่าวเป็นของนายโมฮัมหมัด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ยืนว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำให้นายโมฮัมหมัดถึงเเก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืน ซึ่งภายหลัง ทั้งสองศาล พิพากษายืน ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด อัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกาตามกระบวนการ

โดยวันนี้ จำเลยทั้ง 5 คนมาศาล พร้อมฟังคำพิพากษาฎีกา ขณะที่ "ศาลฎีกา" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า คำให้การของพยานปากพ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ในชั้นสอบสวน ซึ่ง พ.ต.ท.เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี ในคดีอุ้มฆ่าชาวลาวเเละได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ที่ได้ให้ถ้อยคำทำนองว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ และขั้นตอนในการสังหารนายโมฮัมหมัดนั้น แต่เมื่อพิจารณาลักษณะการให้ถ้อยคำดังกล่าวแล้วก็ให้การกลับไปกลับมาสับสน และมีการกล่าวอ้างเรื่องเเหวนขึ้นมาภายหลังจากที่ศาลจังหวัดมีนบุรีลงโทษจำคุก พ.ต.ท.สุวิชชัย จึงเชื่อว่าพยานมีการต่อรองคดีเพื่อให้ช่วยเหลือคดีที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต อีกทั้งในการพิจารณามีพยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพเเหวน พบเพียงว่าเคยถูกใช้งานแต่ไม่ปรากฎว่าแหวนดังกล่าวเคยถูกไฟไหม้มาก่อนต่างจากที่พยานกล่าวอ้างว่าพบแหวนที่ก้นถังน้ำมัน อีกทั้งเมื่อนำแหวนดังกล่าวมอบให้ญาติของนายโมฮัมหมัดตรวจดู ก็ไม่มีญาติยืนยันว่าแหวนนั้นเป็นของนายโมฮัมหมัดจริง ซึ่งการรับฟังพยานนั้น ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อย และยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้องเช่นกัน