สั่งลุยต่อศูนย์ยานยนต์ สมอ.ขอ1.1พันล้าน

สั่งลุยต่อศูนย์ยานยนต์ สมอ.ขอ1.1พันล้าน

นายกฯตรวจเยี่ยมศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สั่งก.อุตฯเดินหน้าระยะ 2 เต็มตัว สร้างอีก 4 สนามทดสอบสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการยานยนต์ โวตะวันออกกลางสนซื้อยางไทยทำถนน

ด้าน สมอ.ของบฯปี 63 จำนวน 1,150 ล้านเดินหน้าโครงการ ชี้เปิดใช้สมบูรณ์ปี 65 สร้างการจ้างงาน-ธุรกิจเกี่ยวข้องกว่า 2 พันล้านต่อปี เพิ่มการใช้ยางพาราปีละ 1.5 แสนตัน

วานนี้ (20 มี.ค) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center- ATTRIC) ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบแห่งแรกในอาเซียน

สั่งลุยต่อศูนย์ยานยนต์ สมอ.ขอ1.1พันล้าน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าโครงการนี้รัฐบาลให้ความเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 โดยอนุมัติงบประมาณให้ประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยต้องการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการยานยนต์ไทยว่าเรามีศูนย์ที่จะทดสอบมาตรฐานทั้งรถยนต์และยางรถยนต์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์และการผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศ รวมทั้งเป็นโครงการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สร้างการพัฒนาในพื้นที่ด้วย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการค่ายรถขนาดใหญ่จากต่างประเทศมีความมั่นใจในการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น

สำหรับการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำก็ได้หารือกับประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง เช่น ประเทศโอมาน ซึ่งมีความสนใจที่จะเอายางพาราจากประเทศไทยไปใช้สร้างถนนในประเทศ รวมถึงเอายางพาราจากไทยไปใช้ในโครงการที่มีการลงทุนในแอฟริกา ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้จะทำให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในเอกสารแสดงสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ระยะที่ 2 ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 พร้อมทั้งกำชับให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเดินหน้าโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้
ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ศูนย์ ATTRIC แห่งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยานยนต์และยางล้อของอาเซียนซึ่งการดำเนินการในระยะที่ 1 ในการสร้างสนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) มูลค่า 700 ล้านบาท ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว และได้หารือกับสำนักงบประมาณในการของบประมาณในการดำเนินการในอีก 4 สนามทดสอบวงเงิน 3 พันล้านบาทในการดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 ขอจัดสรรงบประมาณ 1,151 ล้านบาท ซึ่งอีก 4 สนามทดสอบประกอบไปด้วย สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake) สนามทดสอบเชิงพลวัต (Dynamic Platform)

สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad) และสนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ (Long Distance and High Speed) ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ละสนามจะขอรับการรับรองจากสถาบันที่ได้รับการเชื่อถือจากในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่มาใช้บริการว่าการทดสอบทุกระบบที่สนามแห่งนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นายวันชัยกล่าวว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2565 จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งไปทดสอบต่างประเทศปีละ 119 ล้านบาท และยังช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ตัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราในประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ ด้านช่างเทคนิคไม่น้อยกว่า 200 คน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกไม่น้อยกว่า 2,000 คน คิดเป็นรายได้ 500-1,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเกิดการลงทุนธุรกิจการค้าและธุรกิจต่อเนื่อง 1,000 ล้านบาทรวมทั้งเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในอนาคต

นอกจากนี้โครงการนี้ยังเอื้อให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ต้นแบบ และช่วยเร่งรัดการพัฒนามาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อในประเทศ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ตามเป้าหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)ในอีอีซี ด้วย

“ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 ช่วยให้ผู้ประกอบการลดเวลาในการส่งทดสอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนลงอย่างน้อย 2 เดือน เนื่องจากไม่ต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ ปีละ 119 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ปริมาณการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นอีก 40% หรือประมาณ 150,000 ตัน สร้างรายได้หมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับรายละเอียดของโครงการฯนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วน ยานยนต์ และยางล้อตามมาตรฐานสากล

แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ประกอบด้วย สนามทดสอบยางล้อ เพื่อใช้ทดสอบยางล้อ ในรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน และการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้รับการรับรองจาก Applus+IDIADA ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล โดยในส่วนของห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อใช้ทดสอบยางล้อ ในรายการความต้านทานการหมุน และอาคารสำนักงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้