“ส.ค้าปลีกไทย” โต้ข้อมูล“ทอท.” จี้รื้อทีโออาร์ดิวตี้ฟรี-แก้ผูกขาด

“ส.ค้าปลีกไทย” โต้ข้อมูล“ทอท.” จี้รื้อทีโออาร์ดิวตี้ฟรี-แก้ผูกขาด

สมาคมผู้ค้าปลีก ตั้งโต๊ะย้ำจุดยืน “รื้อทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรี” ชี้ชัดรายเดียว“ผูกขาด” ขัดหลักสากล ชู 6 ข้อเสนอ สวนมวย ทอท.ยึดแนวทาง 3 สนามบินสิงคโปร์-ฮ่องกง-เกาหลี ขู่รวมตัวประท้วง ด้านทอท.แจงรวมสัญญา รัฐได้ประโยชน์สุด ได้ข้อสรุปขายซองสัปดาห์หน้า

กรณี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เลื่อนกำหนดการขายซองประมูล (ทีโออาร์) พื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ วันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย. นี้ ออกไป ขณะที่ ทอท. โดย นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ย้ำชัดต่อแนวทางการเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว ต่างจาก “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ผลักดันให้ทบทวนทีโออาร์ ว่าเข้าข่าย “ผูกขาด”  และไม่เป็นธรรม 

วานนี้ (20 มี.ค.) นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตั้งโต๊ะชี้แจงข้อมูลในประเด็นต่างๆ พร้อม 6 ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องสำหรับ “ร่างทีโออาร์สัมปทานดิวตี้ฟรีและร้านค้าเชิงพาณิชย์” ประกอบด้วย 1.ตรวจสอบกระบวนการโครงการว่าอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติร่วมทุนหรือไม่ 2.จัดสรรสัมปทานหลายรายโดยแบ่งตามหมวดหมู่สินค้าเพื่อให้ตรงกับหลักการปฎิบัติสากลและผลประโยชน์สูงสุด 

3.แยกทีโออาร์ดิวตี้ฟรีเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ สุวรรณภูมิ แบบสัมปทานหลายรายตามหมวดหมู่สินค้า, ภูเก็ต สัมปทานรายเดียว, เชียงใหม่และหาดใหญ่ รวมเข้าด้วยกันเป็น 1 ฉบับ 4.ใช้การประเมิน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ถ้าผ่านจึงเข้าสู่ขั้นที่ 2 ซึ่งใช้ผลตอบแทนทางการเงินเป็นการตัดสินสุดท้าย 5.ทอท.ควรเปิดเผยข้อมูลผู้โดยสารและยอดขายตามเชื้อชาติ และหมวดหมู่สินค้า ดังเช่นสนามบินฮ่องกง อินชอน และชางอี เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม และ 6.โครงการประมูลขนาดใหญ่ควรมีระยะเวลาการทำแผนเข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 60-90 วัน 

“สิ่งที่ ทอท.ให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายประการ โดยสมาคมฯ ได้รวบรวมข้อมูล อิงแนวทางจากรูปแบบสนามบินทั่วโลกที่เป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะ 3-4 สนามบินหลักที่มีเรตติ้งท็อป 5 ของโลก อย่าง ชางฮี สิงคโปร์ อินชอน เกาหลีใต้ รวมทั้งฮ่องกง” 

เชื่อว่าการประมูลธุรกิจดิวตี้ฟรีของไทยครั้งนี้เป็นที่จับตามองของทั่วโลก จากศักยภาพการท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จำเป็นที่จะต้องมีผู้ประกอบการและธุรกิจหลายแขนงร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโต ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีระดับโลกหลายราย รวมทั้งผู้ประกอบการไทยสนใจลงทุนธุรกิจดิวตี้ฟรี แต่ “ทีโออาร์” กลับส่อไปในแนวทางผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเดิม

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณชนครั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง และต้องการสื่อสารถึงพรรคการเมืองต่างๆ จะมีนโยบายหรือแนวทางต่อการประมูลโครงการระดับชาติเช่นนี้อย่างไร ลำดับถัดไปอาจยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อพิจารณาทบทวนต่อไป 

“หากยืดเยื้อเกรงว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะรวบรัดอย่างรวดเร็ว แต่หากทีโออาร์ออกมาแล้วทำให้เกิดการเสียเปรียบอย่างชัดเจน เชื่อว่าผู้ประกอบการต่างชาติที่จับตามอง รวมทั้งสมาคมฯ อาจจะต้องรวมตัวกันประท้วง ที่ผ่านมาเห็นว่า ทอท. มักพูดแทนดิวตี้ฟรี ฟังแล้วคิดว่าเป็นผู้บริหารดิวตี้ฟรีพูดไม่ใช่ผู้บริหารทอท.” 

เขายังกล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาหลักที่ ทอท. ระบุว่า ไม่สามารถให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า ภายในสนามบินสุวรรณภูมิได้ เพราะการบริหารจัดการพื้นที่ในสนามบินแตกต่างจากการบริหารพื้นที่ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีการพิจารณาเรื่องของการกระจายตัวของผู้โดยสารที่มีความไม่แน่นอนและไม่ทั่วสนามบิน 

ในประเด็นนี้สมาคมฯเห็นว่า สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่ ทอท.เข้าใจ สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าจะจัดให้แต่ละหมวดหมู่สำคัญ เช่นเครื่องสำอาง ไวน์-สุรา-ยาสูบ อยู่กระจายไป 2-3 จุดในสนามบิน แม้บางทางออกจะมีจำนวนผู้โดยสารต่ำบางช่วงเวลา ก็ยังจะมีอีกร้านค้าในหมวดหมู่เดียวกันที่ตั้งอยู่ในบริเวณทางออกที่มีจำนวนผู้โดยสารสูงซึ่งจะช่วยถัวเฉลี่ยผลประกอบการกันได้ผลลัพธ์คือในแต่ละปีก จะมีทั้งกลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มไวน-สุรา-ยาสูบ ตามความเหมาะสมมากน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่และการไหลเวียนของผู้โดยสาร แต่ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มสินค้าหนึ่งๆ ต้องอยู่ปีกใดปีกหนึ่งตามที่ ทอท.อธิบาย 

ดังนั้น การอธิบายของ ทอท. ในเรื่องการบริหารกลุ่มสินค้า จึงอาจไม่ถูกต้อง ซึ่งสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า เป็นโมเดลที่ใช้แพร่หลายในสนามบินชั้นแนวหน้าในเอเชียด้วยกันทั้งสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการประมูลดิวตี้ฟรีว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือกัน คำนึงถึงผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูล รับรองว่าโครงการนี้ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้ใคร และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเสนอของสมาคมค้าปลีกไทยพบว่า ยังกล่าวถึงการแยกสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีออกเป็นรายสินค้า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถือเป็นประเด็นใหม่ และ ทอท.ได้ชี้แจงไปแล้วว่า การแบ่งรายสินค้าสามารถทำได้ แต่มีความเสี่ยงเพราะสนามบินมีปริมาณการไหลเวียนของผู้โดยสารแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องบินที่สายการบินนำมาใช้ ซึ่งต่างกับการบริหารพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ส่วนนี้ ทอท.ได้พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมหากจะแบ่งรายสินค้า

ส่วนประเด็นด้านกฎหมาย ได้ชี้แจงแล้วว่าที่ผ่านมา ทอท.ดำเนินการ เพราะพิจารณาตีความถึงธุรกิจดิวตี้ฟรีไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและออกชน พ.ศ.2562 เพราะไม่ถือเป็นธุรกิจที่ไม่ดำเนินการแล้วจะส่งผลต่อธุรกิจการบิน ยกตัวอย่างสนามบินเชียงราย ไม่มีพื้นที่ดิวตี้ฟรีก็ยังทำธุรกิจการบินได้

ทั้งนี้ทอท.ได้ชะลอกำหนดเปิดขายซองเอกสารโครงการไปแล้ว พร้อมที่จะชี้แจงทุกหน่วยงาน และหากพบว่าดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่เข้าข่าย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และจะต้องเข้ากระบวนการอนุมัติร่วมลงทุน (พีพีพี) ก็พร้อมดำเนินการ โดยกำลังรอนัดจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

“เรื่องกฎหมายพร้อมรับฟังทุกคำแนะนำ รอดูทุกหน่วยติดต่อเพื่อให้ไปชี้แจง ตอนนี้ใครให้ไปชี้แจงก็ไป เพราะเรามีเหตุผลถึงทำไปแบบนั้น เราเข้าใจแบบนั้นจริงๆ แต่ก็ยอมรับว่าประเด็นกฎหมายก็ตีความได้หลายแบบ ดังนั้นถ้ามีเหตุผล ทอท.ก็พร้อมปรับ ตอนนี้ก็ยังหวังว่าจะจบภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือภายในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อเริ่มกำหนดวันขายซองเอกสารใหม่”