ฎีกาสั่งจำคุก 'ธาริต' 1ปีไม่รอลงอาญา คดีย้ายผบ.มิชอบ

ฎีกาสั่งจำคุก 'ธาริต' 1ปีไม่รอลงอาญา คดีย้ายผบ.มิชอบ

"ศาลฎีกา" พิพากษาแก้ จากรอลงอาญา สั่ง "ธาริต" ติดคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา เซ็นย้าย "อดีตผบ.คดีทรัพย์สินฯ" ชี้ใช้อำนาจแกล้งเพื่อส่วนตัว มากกว่ารักษาประโยชน์ราชการ

21 มี.ค.62 - ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.3873/2555 ที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อายุ 64 ปี อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อายุ 61 ปี อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อายุ 60 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

โดยโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 55 ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.55 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลับด่วนที่สุด เสนอย้ายโจทก์ จากตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินฯ ให้ย้ายไปเป็น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งถือเป็นการย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม ทั้งที่การย้ายนั้นจำเลยที่ 1 ต้องเสนอความเห็นพร้อมเหตุผล ไปยังคณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (กพศ.) เพื่อพิจารณา และต้องได้รับความยินยอมจากตัวโจทก์ก่อน แต่การเสนอย้ายโจทก์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 กลับเสนอเรื่องต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม ผ่านจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และถูกส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ทั้งที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ควรต้องทำตามขั้นตอนก่อน แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมย้ายโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ โดยอ้างว่าโจทก์ทำผิดวินัย ถูกตั้ง ก.ก. สอบข้อเท็จจริง ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญา ถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท หรือถูกร้องเรียนในหน้าที่ควบคุมคดี หรือถูกส่งให้ป.ป.ช.ชี้มูล ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่ จะย้ายโจทก์ได้

ทั้งนี้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่โจทก์รับผิดชอบคดีแชร์ล็อตเตอรี่มูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท และคดีแชร์ลูกโซ่อื่นๆ ซึ่งเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของชาติเป็นคดีที่เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินคดี ดังนั้นการจะย้ายโจทก์ก็ต้องถูกคุ้มครองไม่ให้กลั่นแกล้งโดยอิทธิพลทางใดทางหนึ่ง ขณะที่เมื่อวันที่ 27 เม.ย.55 โจทก์ได้ร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ค.ก.พ.) ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ฯ มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งกระทรวงยุติธรรมมที่ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม คือประเภทอำนวยการระดับสูงตั้งแต่วันที่มีคำสั่งย้ายโจทก์คือวันที่ 20 เม.ย.55

โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค.55 ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งที่ 380/2555 เรื่องยกเลิกคำสั่งย้ายข้าราชการเป็นการเฉพาะรายตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.55 อย่างไรก็ดี หลังจากถูกกลั่นแกล้งย้ายดังกล่าว โจทก์ได้ลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ส.ค.58 ว่า "นายธาริต" อดีต อธ.ดีเอสไอ จำเลยที่ 1 มีความผิด ตาม ม. 157 ให้จำคุก 2 ปี และยกฟ้อง "นายชาญเชาว์" อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งหรือจงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

ต่อมา "พ.อ.ปิยะวัฒก์" โจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษนายชาญเชาว์ จำเลยที่ 2 ขณะที่นายธาริตอุทธรณ์สู้คดีและขอให้ศาลลงโทษสถานเบา โดยมีคำพิพากษา "ศาลอุทธรณ์" เมื่อวันที่ 2 มี.ค.60 เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ "นายธาริต" อดีต อธ.ดีเอสไอ จำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ขณะที่พิพากษาแก้ในส่วนของ "นายชาญเชาวน์" อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องด้วย เป็นว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากปลัดกระทรวงยุติธรรมเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งการลงนามคำสั่งย้ายนั้นควรที่จะรอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเดินทางกลับมาจากต่างประเทศก่อน แต่จำเลยที่ 2 กลับใช้โอกาสที่นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้นที่เดินทางไปราชการได้ลงนามในคำสั่งย้ายดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ม. 157 ด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าจำเลยที่ 1-2 ได้รับราชการเคยทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และไม่ปรากฏว่าทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกคดีอาญามาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย โทษจำคุกจึงให้รอลงการลงโทษไว้คนละ 2 ปี

โดย "พ.อ.ปิยะวัฒก์" โจทก์ ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยไม่รอลงอาญา ขณะที่จำเลยทั้งสอง ก็ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้องด้วย ซึ่งวันนี้ "ศาล" ได้เบิกตัว "นายธาริต" จากเรือนจำ ซึ่งถูกจำคุก 1 ปีตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา ในคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงการสอบสวนตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างโรงพัก 396 เเห่ง ส่วน "นายชาญเชาว์" อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 2 ก็ได้เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษาฎีกา

สำหรับคำพิพากษา "ศาลฎีกา" นั้น ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้ว เห็นว่า ตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่ "นายธาริต" อดีต อธ.ดีเอสไอ จำเลยที่ 1 เสนอย้ายโจทก์ด้วยความเห็นขัดแย้งในสำนวนคดี ซึ่งการเสนอย้ายนั้นไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยการเสนอย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งที่ต่่ำกว่าเดิมก็เห็นได้ว่าเป็นการใช้อำนาจกลั่นแกล้งทางส่วนตัว มากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์าชการ จึงเป็นการกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ และพฤติการณ์นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรให้รอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ให้รอลงอาญานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปีก็หนักเกินไป

"ศาลฎีกา" เห็นควรปรับโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ จึงพิพากษาเเก้เป็นจำคุก "นายธาริต" เป็นเวลา 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา ส่วน "นายชาญเชาวน์" อดีตรองปลัดกระทรวงยุตอธีรม จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนลงนามในคำสั่ง จำเลยที่ 2 ได้เรียกนักทรัพยากรบุคคลชำนาญพิเศษ กลุ่มอัตรากำลังและกำหนดตำแหน่ง มาสอบถามแล้วชี้แจงยืนยันว่าทำได้ไม่ขัดกฎหมาย และนักทรัพยากรฯ ก็มาเบิกความในศาลทำนองเดียวกัน จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงปัญหาและเหตุขัดแย้งระหว่างโจทก์ กับนายธาริต จำเลยที่ 1 มาก่อน โดยโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่จำเลยที่ 2 จะร่วมทำผิดกับจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้นไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้อง