สธ.ร่วมมือกับ กสทช. ใช้ปัญญาประดิษฐ์-อินเทอร์เน็ต ดูแลปชช.พื้นที่ห่างไกล

สธ.ร่วมมือกับ กสทช. ใช้ปัญญาประดิษฐ์-อินเทอร์เน็ต ดูแลปชช.พื้นที่ห่างไกล

สธ. ร่วมมือกับ กสทช. นำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้ในระบบดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล นำร่อง 8 จังหวัด คัดกรองโรคด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประชาชนได้รับการดูแลใกล้บ้าน ลดเหลื่อมล้ำ ลดแออัด

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 ที่สโมรสทหารบก วิภาวดี กทม. นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การกำหนดแนวทางการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Telehealth)

นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีของกระทรวงสาธารณสุขที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูประบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ (Digital Transformation) ให้เห็นผลเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยนำระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ห่างไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี อุปกรณ์การแพทย์ และซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคผิวหนัง และโรคตา โดยผู้ป่วยได้รับการรักษาใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมทั้งพัฒนาการบริการผ่านโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application) เพื่อให้ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพกับทีมหมอครอบครัวได้ตลอดเวลา ตั้งเป้าหมายดำเนินการนำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี สุรินทร์ สงขลา สุราษฎร์ธานี รวม 34 โรงพยาบาล ประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต. ขนาดใหญ่) 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง โรงพยาบาลจังหวัด 8 แห่ง และศูนย์เฉพาะทางโรคตา ศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง สำหรับในอนาคตจะขยายผลสู่พื้นที่ห่างไกลอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ หรือคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ที่เน้นให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและสหวิชาชีพร่วมทีมกันทำงานเชิงรุก ดูแลประชาชนและผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งการติดตามการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน และการให้ความรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาพดีผ่านแอปพลิเคชันมือถือ บันทึกข้อมูลแบบ Real-time ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน และใช้แอปพลิเคชันเฮลท์ฟอร์ยู H4U (Health for You Application) สมุดสุขภาพประชาชน เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนและผู้ป่วยโดยตรง ในรูปแบบของ Private chat หรือ VDO Call