'3พรรค' จี้ 'ส.ว.' เคารพเสียงปชช.

'3พรรค' จี้ 'ส.ว.' เคารพเสียงปชช.

"3พรรค" จี้ "ส.ว." เคารพเสียงปชช. ระบุ "กกต." ต้องทำงานเที่ยงตรง - ให้เลือกตั้งเสรี เป็นธรรม ชี้ "คสช." งดสร้างเงื่อนไขไม่ยอมรับเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีสัญญาประชาคมพรรคการเมือง หัวข้อ "ทำอย่างไรประชาธิปไตยไทยจะไม่ล้มเหลวอีก" โดยมีตัวแทนจาก 3 พรรคการเมือง ได้แก่ นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวที

ทั้งนี้ ในเวทีสัญญาประชาคมดังกล่าว ทั้ง 3 พรรคเห็นร่วมกันต่อการสร้างจุดยืนที่พรรคการเมืองต้องเคารพเสียงประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 มีสิทธิรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาลก่อน ขณะที่กลไกของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ร่วมโหวตบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพรรคการเมือง และเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำงานด้วยความโปร่งใส และให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อให้การเมืองหลังเลือกตั้งเดินหน้า

โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้การเมืองเดินไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งและซ้ำรอยประวัติศาสตร์ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งพรรคการเมือง, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การไม่เชื่อมั่นหรือไม่ยอมรับของประชาชนในการเลือกตั้ง โดย กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งและกำกับให้การแข่งขันมีความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ตนมองว่าการทำหน้าที่ของ กกต. เหมือนทำงานไต่บนเส้น เพราะ กกต. ระบุว่าทำหน้าที่จัดเลือกตั้งตามกติกา แต่พรรคการเมืองมองว่ามีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ยังไม่รุนแรงถึงเกิดปฏิกิริยา แต่หากกกต.ยังทำหน้าที่หรือวินิจฉัยรวมถึงตัดสินประเด็นต่างๆ ที่สร้างเงื่อนไขให้การเลือกตั้งไม่เสรี หรือเป็นธรรม อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงได้

ขณะที่คสช. ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 เพื่อดำเนินการใด ส่วนพรรคการเมืองตนขอเรียกร้องให้ช่วยรักษาความเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ผลชนะเท่านั้น นอกจากนั้นหลังการเลือกตั้ง ส.ว. ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และควรให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงเลือกตั้งอันดับหนึ่งรวบรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาลขณะที่ ส.ว.ทั้ง 250 คนต้องเป็นฝ่ายสนับสนุน​ ทั้งนี้หาก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญคือตัวแทนปวงชนชาวไทย ต้องเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นตัวแทนของบุคคลที่แต่งตั้ง

นายอภิสิทธิ์ ยังเรียกร้องไปยัง กกต.​ให้นำเทคโนโลยีเพื่อติดตามรถขนหีบบัตรเลือกตั้ง โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบและมั่นใจว่าไม่มีกระบวนการเปลี่ยนหีบบัตรเลือกตั้งหรือสลับบัตรออกเสียงลงคะแนน

ขณะที่โภคิน กล่าวสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ต่อประเด็นการจัดเลือกตั้งให้เสรี และเป็นธรรม เพราะประชาชนมีความคาดหวัง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าหากประชาชนเกิดความรู้สึกว่าการเลือกตั้งโกง หรือถูกเอาเปรียบ หรือ หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งทำงานไม่เต็มที่ อาจกลายเป็นประเด็นที่สร้างความน่าผิดหวังได้ อย่างไรก็ตามในแนวทางที่จะสร้างการเมืองเดินหน้าต้องยืนหยัดในศักดิ์ศ รีและระบอบประชาธิปไตย โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงตัวแทนฝ่ายบุคคลของระบบเผด็จการ แต่พรรคพลังประชารัฐคือองค์กรของเผด็จการ ดังนั้นหากประชาชนปฏิเสธระบบเผด็จการต้องไม่เลือกทั้งพรรค และทั้งตัวบุคคล ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ตนสนับสนุนให้พรรคที่ได้เสียงเลือกตั้งอันดับหนึ่งมีสิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยส.ว.ไม่ควรยุ่งเกี่ยว

"ผมเป็นห่วงว่าส.ว.ที่สามารถออกเสียงได้อย่างอิสระ โดยไม่มีมติพรรคใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง หากพรรคที่เป็นเสียงข้างน้อยอยากเป็นรัฐบาล อาจชอปปิ้งส.ว. ได้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น คือ ต้องยืนหยัดในศักดิ์ศรีและระบอบประชาธิปไตย"​ นายโภคิน กล่าว

นายโภคิน ยังกล่าวด้วยว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการรัฐประหาร ที่ให้การทำรัฐประหารเป็นความผิด ไม่มีอายุความและสามารถดำเนินคดีได้ตลอด พร้อมกับมีบทลงโทษให้หนัก นอกจากนั้นจะมีข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขมาตราว่าด้วยการนิรโทษกรรมผู้ทำรัฐประหาร โดยให้ถือว่าการทำรัฐประหาร คือการล้มล้างประชาธิปไตย ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถทำได้ พร้อมกับเขียนให้เป็นประเพณีการปกครอง เพื่อให้เนื้อหาดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไป แม้รัฐธรรมนูญถูกฉีก​

"การรัฐประหารที่เป็นการโกงอำนาจไปจากประชาชน ทั้งที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่ที่ผ่านมามีกระบวนการให้ประชาชนยอมรับในอำนาจดังกล่าว ดังนั้นทางแก้ไข คือ ศาลต้องวินิจฉัยว่าการยึดอำนาจนั้นเป็นกระทำที่ไม่ชอบ เป็นความผิด และขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเชื่อว่าศาลรุ่นใหม่จะพิจารณา ว่าสิ่งนี้ผิด ทำไม่ได้ และหากทำต้องรับผิดชอบ​ แต่หากศาลวินิจฉัยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญศาลเองต้องมีบทลงโทษ" นายโภคิน กล่าว

ส่วนนายชำนาญ กล่าวว่าการเลือกตั้งต้องมีความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่น แต่ความผิดพลาดของกระบวนการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม เช่น บัตรเลือกตั้งผิดเขต กระทบต่อการสร้างความน่าเชื่อถือของกกต. และอาจกลายเป็นประเด็นที่ กกต. ถูกฟ้องร้องได้เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ดังนั้นกระบวนการเลือกตั้งปี 2562 รวมไปถึงการนับคะแนน รวมคะแนน ต้องมีกระบวการตรวจสอบ โดย กกต.​ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ

นายชำนาญ กล่าวต่อว่าภายหลังการเลือกตั้ง ตนไม่ทราบว่าพรรคไหนจะได้คะแนนเป็นอันดับ1 แต่โดยธรรมเนียมพรรคอันดับหนึ่งจะได้ตำแหน่งประธานรัฐสภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ในรัฐสภา แต่หากการเลือกตั้งเสียงผู้ชนะคือฝั่งไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แบบถล่มทลาย จำเป็นต้องสร้างแรงกดดันให้ ส.ว. ไม่ยอมรับการสนับสนุนรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างน้อย