ตำรวจเผยมือปืนไครสต์เชิร์ชก่อเหตุโดยลำพัง

ตำรวจเผยมือปืนไครสต์เชิร์ชก่อเหตุโดยลำพัง

ขณะยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น50คนและมีผู้บาดเจ็บขั้นโคม่า2คน

นายไมค์ บุช ผู้บัญชาการตำรวจเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบพยานหลักฐานและพยานบุคคลในเบื้องต้น เชื่อว่านายเบรนตัน  แฮร์ริสัน ทาร์แรนต์ ชาวออสเตรเลียวัย 28 ปีที่ก่อเหตุกราดใส่ยิงมัสยิด2แห่งในเมืองไครส์เชิร์ช กระทำการเพียงลำพัง ส่วนอีก2คนที่ถูกจับกุมในฐานะผู้ตัองสงสัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงครั้งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 50 คน และมีสองคนที่มีอาการบาดเจ็บสาหัสอยู่ในขั้นโคม่า

ด้านนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แถลงที่กรุงเวลลิงตันก่อนเดินทางไปยังเมืองไครสต์เชิร์ช วานนี้ (16 มี.ค.)ว่า นายทาร์แรนต์ผู้ต้องหาชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี ได้รับใบอนุญาตพกปืนประเภท เอเมื่อเดือนพ.ย. 2560และในเดือนต่อมาก็เริ่มซื้อปืนทั้ง 5 กระบอก ซึ่งถูกนำมาใช้สังหารหมู่ชาวมุสลิมที่ประกอบพิธีละหมาดเมื่อวันศุกร์(15 มี.ค.)

“ข้อเท็จจริงคือ บุคคลคนนี้มีใบอนุญาตพกปืนและนำมันไปซื้ออาวุธร้ายแรงเหล่านั้น ดิฉันเชื่อว่าประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และดิฉันจะทำให้สำเร็จ” นางอาร์เดิร์นกล่าว และว่า“ดิฉันบอกคุณได้เลยอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายควบคุมปืนของเราจะต้องถูกแก้ไข”

นายทาร์แรนต์ถูกนำตัวไปขึ้นศาลวานนี้ในสภาพถูกสวมกุญแจมือและใส่เครื่องแบบนักโทษสีขาว โดยระหว่างนั้นเขาได้หันไปมองสื่อมวลชน และทำสัญญาณมือ “โอเคกลับหัว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พวกเชื่อในพลังของคนผิวขาวใช้กันทั่วโลก

ศาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศตั้งข้อหาฆาตกรรมและนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 5 เม.ย. โดยนายทาร์แรนต์ไม่ได้ร้องขอประกันตัว

เหตุกราดยิงครั้งนี้ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 42 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุเพียง 4 ขวบ ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีชาวมุสลิมในโลกตะวันตกครั้งเลวร้ายที่สุดในยุคสมัยใหม่

นางอาร์เดิร์น ยืนยันว่า มือปืนและผู้ต้องสงสัยสมรู้ร่วมคิดอีก 2 คนที่ถูกจับกุมแล้วเช่นกันไม่เคยถูกหน่วยข่าวกรองเพ่งเล็งมาก่อน แม้เจ้าตัวจะแถลงอุดมการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีแผนโจมตีชาวมุสลิมก็ตาม

รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้แก้กฎหมายจำกัดการเข้าถึงปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติเมื่อปี 2535หลังมีชายสติไม่ดีก่อเหตุกราดยิงคนตาย 13 ศพที่เมืองอาราโมอานาทางตอนใต้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายควบคุมปืนของนิวซีแลนด์ยังถือว่าหย่อนยานพอสมควรเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย ซึ่งมีมาตรการควบคุมปืนอย่างเข้มงวดหลังเกิดเหตุสังหารหมู่คล้ายกันในปี 2539รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ นอกจากสหรัฐ

ปัจจุบัน บุคคลที่อายุเกิน 16 ปีสามารถขอใบอนุญาตพกปืนในนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีอายุใช้งาน 10 ปี หลังผ่านหลักสูตรอบรมการใช้ปืนและตรวจเช็คประวัติโดยตำรวจแล้ว