'สุเมธ' นำทีม กฟภ. ยื่นนายกฯ สั่ง 'คลัง' เพิ่มเงินสมทบนายจ้าง

'สุเมธ' นำทีม กฟภ. ยื่นนายกฯ สั่ง 'คลัง' เพิ่มเงินสมทบนายจ้าง

"ดร.สุเมต" นำทีมกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฟภ. ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องสั่งกระทรวงคลังให้พิจารณาเพิ่มเงินสมทบฝ่ายนายจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพรัฐวิสาหกิจ

นายกิตติชัย ใสสะอาด กรรมการบริหารสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งประเทศไทย (กสช.) และกรรมการกองทุนบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดร.สุเมต สุวรรณพรหม กรรมการที่ปรึกษาสมาคม กสช. และกรรมการบริหารกองทุน กสช. กฟภ. และนายวัฒนา แพกุล กรรมการบริหารกองทุน กสช. กฟภ. ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 มี.ค. 2562 เพื่อขอความอนุเคราะห์นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มเงินสมทบฝ่ายนายจ้างของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมด้านการเงิน ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า พวกกระผมมีความตั้งใจสูงอย่างมากที่จะขอความกรุณาให้นายกฯ อ่านจดหมายฉบับนี้ เนื่องจากจดหมายฉบับนี้แทนความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ ในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจนับแสนคน ที่มีความรู้สึกว่า 5 ปีที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีคุณภาพของประเทศไทย มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน แต่ที่ผ่านมา ท่านไม่ได้ดูแลพวกเราเท่าที่ควร แต่กลับดูแลข้าราชการมากเป็นพิเศษ เรื่องที่จะกล่าวถึง หากกระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการให้ตามที่กฎหมายกำหนด พวกผมก็ไม่ต้องมารบกวนเขียนจดหมายถึงในวันนี้

เมื่อปลายรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กระทรวงการคลัง โดย รมว.คลัง นายสมหมาย ฮุนตระกูล ได้เร่งออกกฎหมายสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณของพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างภาคเอกชน คือ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งมีหลักการให้นายจ้างของทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน และลูกจ้างก็ต้องจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) กำหนดให้กองทุนนี้เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างได้มีโอกาสออมเงินกันทุกเดือน ลูกจ้างและนายจ้างได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และมีความรู้มากขึ้นอีกนับล้านคน

จนขยายผลมาถึงปัจจุบัน การลงทุนในกองทุนรวม, กองทุน LTF และกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปัจจุบัน มีเงินอยู่มากถึง 1,146,921 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมด 100% หมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จนเป็นอุตสาหกรรมการเงินระดับสถาบันหลักที่เป็นกองใหญ่มากเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ในปัจจุบัน มีกองทุน (กสช.) ทั้งรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนประมาณ 18,178 กองทุน กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีสมาชิกประมาณ 3 ล้านคนเศษเท่านั้น

ในอดีต ผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ที่ทำได้จากตลาดค่อนข้างดี แต่ใน 10 ปีหลัง ผลตอบแทนไม่ดี และหลายปีที่ผ่านมา สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่ติดลบบ ปีที่แล้วตราสารทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ กฟภ. ซึ่งเป็นกองทุนที่มีผลงานบริหารดีที่สุดที่ได้รับการประกาศให้เป็นกองทุนยอดเยี่ยมของประเทศไทยถึง 4 สมัย ยังมีผลตอบแทนจากตราสารทุนติดลบมากถึง 9.24% ตราสารหนี้ได้รับผลตอบแทนเพียง 1.63% ทำให้หลายปีที่ผ่านมา สมาชิกที่เกษียณอายุงานนำเงินหลังเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ปัจจุบัน ไปเปรียบเทียบกับกองทุนเดิม (กองทุนบำเหน็จ หรือ กองทุนสงเคราะห์ ที่นำเงินเดือนสุดท้ายคูณอายุงานแล้วหักภาษีเล็กน้อย จ่ายให้ลูกจ้างเมื่อเกษียณ) ปรากฏว่า ได้รับเงินเกษียณก้อนสุดท้ายจากกองทุนเดิมมากกว่าเงินที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) หลายหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงประชุมหาทางแก้ไขกันมาหลายปี

โดยรัฐวิสาหกิจบางแห่งขอเพิ่มเงินสมทบ 13% ตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่ อีกบางรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปาส่วนภูมิภาค ฯลฯ คือ รัฐวิสาหกิจที่หน่วยงานมีความพร้อมที่จะจ่ายเงินสมทบให้สมาชิกได้ตามที่กฎหมายกำหนด และพยามยามจะช่วยสมาชิก แต่กลับถูกทักท้วงจากกระทรวงการคลัง คือ กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย ซึ่งพวกกระผมวิเคราะห์ว่า กระทรวงการคลังไม่มีเหตุผลรองรับเท่าที่ควร และไม่มีแนวทางเสนอแนะการแก้ปัญหาแต่อย่างใด

กระทรวงการคลังเคยแจ้งปลัดกระทรวงมหาดไทยให้กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ในสังกัดเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน ซึ่งพวกกระผมยืนยันว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งประเทศไทย มี ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เป็นนายกสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนทุกรูปแบบแล้ว แต่ผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันก็ยังคงต่ำและมีความผันผวนทุกปี เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากมีความไม่มั่นใจในผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ในยามเกษียณ ซึ่งพยายามเรียกร้องให้กลับไปอยู่ในระบบกองทุนบำเหน็จแบบเดิม ซึ่งถ้าต้องปล่อยให้เป็นเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินอย่างรุนแรงในตลาดหลักทรัพย์อย่างแน่นอน ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ควรประมาทในสิ่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

เรื่องดังกล่าว รมว.คลัง อดีต CEO ของธนาคารกรุงไทยฯ คงมีความรู้ดี เพราะ บลจ.กรุงไทย ก็บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) อยู่นับแสนล้าน ท่านอดีต รมว.ณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน บลจ.MFC ของกระทรวงการคลัง ก็รู้เรื่องดี เพราะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ไปบริหารนับแสนล้านเช่นกัน สิ่งที่น่ากังวล คือ การเพิ่มเงินสมทบให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นข้าราชการอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะความรู้สึกของข้าราชการมักคิดว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจมีสวัสดิการมากกว่าข้าราชการ ซึ่งพวกผมยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ชีวิตหลังเกษียณของพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่ดีเอาเสียเลยครับ

ด้วยเหตุนี้ พวกกระผมจึงได้รับมอบหมายจากสมาชิกให้กราบเรียนนายกฯ เสนอปัญหาดังกล่าว เพื่อมีบัญชาให้กระทรวงการคลังปฏิบัติตามกฎหมาย และควรเร่งพิจารณาก่อนเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจตามสมควร กล่าวคือ ขอให้นายจ้าง (รัฐวิสาหกิจ) ที่มีความพร้อมทางด้านฐานะการเงิน พิจารณาจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช.) ให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 "มาตรา 10 ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน โดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ซึ่งการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง"

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาเป็นเช่นใด ขอความกรุณาให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ทราบตามสมควร เพื่อจะได้ชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั่วประเทศได้รับทราบต่อไป