นักวิจัยบุกสวน ส่ง'อินทผลัม’สู่สากล

 นักวิจัยบุกสวน ส่ง'อินทผลัม’สู่สากล

น้ำอินทผลัม นวัตกรรมจากสวนที่ผู้ประกอบการเชียงใหม่จับมือ สวทช. เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ การันตีคุณภาพแบรนด์ไทยในตลาดโลก หวังเพิ่มกำลังการผลิตตอบดีมานด์ตลาดอินโดนีเซียและมาเลเซีย

“ภาคเหนือมีคาร์แรคเตอร์และโจทย์เฉพาะตัว ดังนั้น แนวทางการพัฒนาและใช้เศรษฐกิจสีเขียวในภาคเหนือ มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนท้องถิ่นต้องเผชิญโดยเฉพาะเรื่องมลภาวะในอากาศ ขณะเดียวกัน ปัญหาของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนก็เป็นอีกโจทย์ที่ต้องแก้ ส่วนเศรษฐกิจชีวภาพนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชผักผลไม้และสมุนไพร สามารถใช้เป็นสารสกัดสำหรับกลุ่มเวชสำอางหรือทางการแพทย์” ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว

จับมือวิจัยเพิ่มค่า

“บ้านสวนโกหลัก อินทผลัมไทย” สวนอินทผลัมแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ มีจุดเริ่มจากการที่ ศักดิ์ ลำจวน กรรมการบริหารบริษัท โกหลัก จำกัด มีโอกาสเดินทางไปดูงานด้านการเกษตรที่อิสราเอลและจอร์แดน เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้ชมสวนอินทผลัมทั้งสองประเทศ

จึงเกิดความสนใจจะนำมาปลูก เนื่องจากเกิดความคิดว่าแทนที่จะปลูกอินทผลัมเป็นไม้ประดับ น่าจะปลูกให้รับประทานผลได้ด้วย หรือนำมาแปรรูปได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ จึงได้เริ่มต้นทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา กระทั่งปี 2555 ได้จดทะเบียนบริษัทและได้เริ่มผลิตน้ำอินทผลัม 100% ตั้งแต่นั้นมา

“เราเริ่มจากการพัฒนาสายพันธุ์อินทผลัมให้สามารถทนความชื้นและฝน เพื่อให้สามารถปลูกในประเทศเขตร้อนอย่างไทยได้ จนได้พันธุ์ที่ให้ผลสดเกรดพรีเมี่ยม กรอบ หวาน เมื่อเทียบกับพันธุ์ของต่างประเทศที่มีรสติดฝาด ทำให้สามารถเปิดตลาดอินทผลัมในไทยและต่างประเทศได้” ศักดิ์ กล่าว

เมื่อคัดเกรดผลผลิตเพื่อวางตลาดระดับพรีเมี่ยม ก็จะเหลือผลผลิตที่ขนาดไม่ได้ รูปทรงไม่สวย จึงเริ่มคิดแปรรูป เดินหน้าเข้าหา สวทช. ภาคเหนือ ขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ไอแทป) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ในปี 2556 โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตน้ำอินทผลัมพร้อมดื่ม” โดย ผศ.อุมาพร อุประ นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะการผลิตตั้งแต่สภาพแวดล้อมในการผลิต จนถึงการยื่นขอรับใบอนุญาตผลิตอาหาร และได้เครื่องหมาย อย. เรียบร้อยแล้ว

ต่อมาในปี 2559 ได้ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมในการจัดทำโครงการ “การจัดทำระบบ GMP Codex โรงงานผลิตน้ำอินทผลัม” ซึ่งมุ่งปรับปรุงกระบวนการจัดการและกระบวนการผลิต ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) เน้นการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตน้ำอินทผลัมจากผลสด และมีการนึ่งฆ่าเชื้อในอุณหภูมิน้ำเดือด ภายหลังการบรรจุในขวดแก้วเป็นเวลา 15 นาที เพื่อลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการเสียหายภายหลังการจัดเก็บ ทำให้อายุการเก็บรักษานานขึ้นในอุณหภูมิห้อง ซึ่งจากเดิมจะต้องเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นประมาณ 4 องศาเซลเซียสหรือจะต้องแช่เย็นระหว่างการขนส่ง

หลังจากเสร็จสิ้นโครงการปี 2561 ทำให้โรงงานมีระบบคุณภาพ ระบบเอกสาร และบันทึกข้อมูลการผลิตผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนด GMP Codex และได้รับใบรับรองมาตรฐานระดับสากลจาก SGS เรียบร้อยแล้ว

แปรรูปเปิดตลาดสากล

“อนาคต อินทผลัมที่พัฒนาสายพันธุ์จนสามารถปลูกได้ทั่วประเทศจะทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จนอาจล้นตลาดได้ จึงจำเป็นต้องมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า เพื่อให้การเกษตรเดินหน้าสู่ระดับอุตสาหกรรม จึงได้แตกไลน์สินค้าที่แปรรูปอินทผลัมออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กราโนล่าอินทผลัม แยม ลูกอม ไซรัป ฯลฯ”

น้ำอินทผลัม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเรือธงที่เตรียมเปิดตลาดใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซียที่มีความต้องการสูงมากถึงเดือนละกว่า 5 แสนขวดแต่จากกำลังการผลิต 3 หมื่นขวดต่อเดือน ทำให้เตรียมสร้างโรงงานผลิตใหม่ ที่เบื้องต้นต้องเพิ่มกำลังการผลิต 1 เท่าตัว

ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้หลักของสวนจะมาจากผลสดถึง 70% จากการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปอยู่ที่ 30% แต่ในอนาคต จะเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มากขึ้นเป็น 40% ของรายได้รวม จึงเตรียมที่จะร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ จากอินทผลัมออกสู่ตลาดให้มากขึ้น