ประธานศาลฎีกาออกระเบียบ คู่ความคัดคำพิพากษาชั้นต้นเร็วขึ้นใน7วัน

ประธานศาลฎีกาออกระเบียบ คู่ความคัดคำพิพากษาชั้นต้นเร็วขึ้นใน7วัน

"ศาลยุติธรรม" ปฏิรูปกระบวนการไม่ล่าช้า สงกรานต์นี้ 12 เม.ย. เริ่มทันที "โฆษกศาล" ชี้ระเบียบสอดคล้องแนวคิด Best practice ธนาคารโลก ระบบจัดการคดีศาลต้องกำหนดเวลามาตรฐาน Time standard เชื่อส่งผลดีทั่วโลกมั่นใจระบบศาลไทย

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาได้ออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยระยะเวลาในการจัดพิมพ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น พ.ศ.2562 ซึ่งระเบียบนี้กำหนดว่า เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟังแล้ว ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งให้เรียบร้อย เพื่อให้คู่ความสามารถคัดถ่ายสำเนาได้ภายใน 7 วันนับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง

โดยระเบียบฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งระเบียบฯ ยังกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการนั้น คืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล มีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และเจ้าพนักงานศาลในสังกัด ส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อจัดพิมพ์ให้เสร็จภายใน 7 วัน หากกรณีไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ให้หัวหน้าส่วนราชการนั้น รายงานไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมระบุเหตุผลความจำเป็น เพื่อนำเสนอ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) หรือคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาต่อไป

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวว่า แต่เดิมหลังจากมีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เราไม่ได้กำหนดกรอบว่าประชาชนสามารถที่จะคัดถ่ายคำพิพากษาได้ในกี่วัน แต่ระเบียบฉบับนี้ที่ "ประธานศาลฎีกา" ออกมา ได้กำหนดกรอบบังคับว่าต่อไปหลังจากอ่านคำพิพากษาแล้วประชาชนจะสามารถคัดถ่ายคำพิพากษานำไปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำไปเพื่อบังคับตามคำพิพากษา หรือนำไปเพื่อศึกษาในการยื่นอุทธรณ์คดีต่อ

"ตรงนี้ ถือเป็นประโยชน์ที่ศาลยุติธรรมเราออกระเบียบเพื่อบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า"

ทั้งนี้ นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยระยะเวลาในการจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น พ.ศ. 2562 อีกว่า ระเบียบดังกล่าวนี้สอดคล้องกับแนวความคิดการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best practice) ของธนาคารโลก (World Bank) ในเรื่องความมีประสิทธิภาพของการบริหารจัดการคดี (Case management) ของศาล ที่จะต้องมีการกำหนดระยะเวลามาตรฐาน (Time standard) ของขั้นตอนในการพิจารณาพิพากษาคดี ระเบียบดังกล่าวจึงส่งผลต่อรายงานการประเมินความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลกที่จัดทำขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งพิจารณาความมีประสิทธิภาพของการอำนวยความยุติธรรมของศาล และจะส่งผลดีในการยกระดับความเชื่อมั่นต่อศาลยุติธรรมไทยในระดับสากลอีกด้วย