'เรืองไกร' โต้ความเห็นผู้ตรวจฯปมคุณสมบัติ 'ประยุทธ์'

'เรืองไกร' โต้ความเห็นผู้ตรวจฯปมคุณสมบัติ 'ประยุทธ์'

"เรืองไกร" ยื่น กกต. ค้านนำความเห็นผู้ตรวจฯ ประกอบคำร้องคุณสมบัติ "บิ๊กตู่" พร้อมยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโต้

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อคัดค้านการนำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินมาประกอบการพิจารณาคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือ ไม่ โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย  จึงจะวินิจฉัยกรณีดังกล่าวไม่ได้ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ โดยตนมีหลักฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 62 กรณีนายรังสิมันต์ โรม ขัดคำสั่งคณะมนตรีความมั่นคงของชาติ (คมช.) โดยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ  ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า คำสั่งของ คมช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะไม่สามารถใช้บังคับหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ  ซึ่งกรณีนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณา ในความเห็นของตน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.  มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อยู่เพียงแค่ 2 เดือน  คือ 22 พ.ค. - 22 ก.ค.57 เท่านั้น  เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีผลบังคับใช้และให้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์ในการใช้มาตรา  44  โดยกำหนดให้ต้องรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)   ซึ่งในประเด็นนี้จึงโต้แย้งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ  

การที่ผู้ตรวจฯนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/43  ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้มาวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าลักษณะ 4 ประการการ ในการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการนำคำวินิจฉัยมาเฉพาะบางส่วนเท่านั้น   ข้อเท็จจริงยังได้มีการวินิจฉัยถึงบางตำแหน่งที่ยังไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ตามกฎหมาย   ว่าเข้าข่ายว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ   เรื่องนี้ผมไม่แย้งผู้ตรวจฯ เพราะผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้  แต่คัดค้านที่ กกต.จะนำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจฯมาประกอบการพิจารณาในประเด็นคุณสมบัติพล.อ.ประยุทธ์ที่ผมยื่นคำร้องนายเรืองไกรกล่าว

   

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก็ยังมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของนายสมบัติ บุญงานอนงค์ ที่ไม่ไปรายตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยนายสมบัติต่อสู้ว่า ไม่ไปรายงานตัว เพราะ คสช.ไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐ แต่ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดังนั้น ตนจึงนำคำพิพากษาของศาลมายื่นให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง