วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 มี.ค.62)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 มี.ค.62)

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่ม หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับลดสวนทางคาดการณ์

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มี.ค. 62 ปรับตัวลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล ลงมาแตะระดับ 449.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล  นอกจากนี้ EIA ยังได้รายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน ลงไปแตะที่ระดับ 12.0 ล้านบาร์เรล/วัน ในสัปดาห์ที่แล้ว

+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากระดับ 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลงไปสู่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มไปแตะระดับ 13.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2563 นอกจากนี้ EIA ยังปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ เป็น 20.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 21.03 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ

+/- การส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลายังคงมีปัญหา หลังระบบไฟฟ้าพื้นฐานภายในประเทศขัดข้องติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่าขนส่งหลักของประเทศได้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เวเนซุเอลาได้กลับมาดำเนินการส่งออกอีกครั้ง หลังมีการถ่ายน้ำมันดิบลงเรือขนส่งน้ำมันของ PetroChina ในวันพุธที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากในเดือนมี.ค. โรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีนวางแผนที่จะส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นประกอบกับโรงกลั่นในประเทศเวียดนามพร้อมที่กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไต้หวันมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน มี.ค. ถึงแม้ว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียยังคงอยู่ในระดับดี ในขณะที่อุปทานของน้ำมันดีเซลยังคงจำกัด หลังโรงกลั่นน้ำมันจีนบางส่วนปิดซ่อมบำรุง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

        ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 54-59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

        ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโอเปคและพันธมิตรร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคปรับลดลงมาอยู่ที่ 30.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 ประกอบกับ รัสเซียเตรียมที่จะปรับลดกำลังการผลิตในเดือน มี.ค. 62 ลงราว 228,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. 61
  • จับตาผลสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเจรจาระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยดี โดยทั้งสองประเทศจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มี.ค. นี้ ซึ่งหากสงครามการค้ายุติลง เศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้
  • ติดตามการตัดสินใจของโอเปคและพันธมิตรเกี่ยวกับทิศทางในการปรับลดกำลังการผลิต หลังคาดว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมเดือน เม.ย. 62 อย่างไรก็ตาม คาดว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะมีข้อสรุปในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มิ.ย. 62

---------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999