ไมโครซอฟท์หนุนธุรกิจไทยดึง 'เอไอ' เพิ่มขีดแข่งขัน

ไมโครซอฟท์หนุนธุรกิจไทยดึง 'เอไอ' เพิ่มขีดแข่งขัน

“ไมโครซอฟท์”-“ไอดีซี” หนุนธุรกิจไทยใช้เอไอขับเคลื่อนธุรกิจ ชี้ในปี 2564 ช่วยเพิ่มอัตราการสร้างนวัตกรรม หนุนประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน

รายงานวิจัยโดย “ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก” และ “ไอดีซี” หัวข้อ "Future Ready Business: Assessing Asia Pacific’s Growth Potential Through AI" ระบุว่า มีความจำเป็นที่ภาคธุรกิจไทยควรเร่งนำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มาใช้งาน เพื่อยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเสริมประสิทธิภาพการทำงาน

องค์กรธุรกิจไทยคาดว่า ภายในปี 2564 เอไอจะเพิ่มอัตราการสร้างนวัตกรรมขึ้นอีก 66% เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ราว 32% ขณะที่ ศักยภาพการแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 81%

ผลสำรวจองค์กรธุรกิจ 101 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีองค์กรเพียง 26% เท่านั้นที่นำเอไอเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจ แม้ว่ากว่า 85% ขององค์กรเหล่านั้นจะเข้าใจดีถึงผลกระทบเชิงบวกจากการใช้งานเอไอก็ตาม

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ใน 5 อันดับแรกคือ ประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า โดย 31% ของผู้ร่วมทำการสำรวจเลือกเป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น 22% ส่วนต่างกำไรที่เพิ่มขึ้น 22% เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน 9% และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้รวดเร็วขึ้น 8%

ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมา องค์กรที่เริ่มใช้งานเอไอได้เห็นถึงการพัฒนาที่ชัดเจนจากศักยภาพในด้านต่างๆ เหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นราว 28-36% และยังคาดการณ์อีกว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกไม่ต่ำกว่า 20% ในช่วงระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า

ขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจ

เขากล่าวว่า ทุกวันนี้ทุกบริษัทเป็นเหมือนบริษัทซอฟต์แวร์ ซึ่งการทำงานทุกส่วนป็นดิจิทัลมากขึ้น การจะประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่นี้ องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาประยุกต์ใช้ให้ได้โดยเร็ว พร้อมสร้างความสามารถเชิงดิจิทัลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองได้

“เอไอจะเป็นเทคโนโลยีที่กำหนดทิศทางแห่งอนาคต ด้วยศักยภาพมหาศาลทั้งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจ สร้างนวัตกรรม เสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศและธุรกิจที่ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้งาน เอไอ จึงกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน และตกเป็นรองธุรกิจที่เป็นผู้นำในด้านนี้”

ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์และไอดีซีนี้ ได้เก็บข้อมูลด้านความพร้อมของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เอไอใน ที่น่าสนใจพบว่าประเทศไทยจะต้องเดินหน้าพัฒนาศักยภาพต่อไปในหลายด้าน โดยเฉพาะ “ข้อมูลและการลงทุน” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำ เอไอ มาใช้งานอย่างเต็มตัว

นายธนวัฒน์กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ธุรกิจถึง 81% ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะของพนักงานในอนาคต พวกเขาวางแผนที่จะลงทุนไปกับทรัพยากรมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำธุรกิจราว 48% ก็ยังไม่เริ่มดำเนินการเพื่อช่วยพนักงานของพวกเขาให้มีทักษะที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ในขณะนี้ โดยพวกเขาจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกสอนพนักงานโดยด่วน

สำหรับ 3 ทักษะสำคัญที่ผู้นำธุรกิจในประเทศไทยต้องการ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะดิจิทัล และการคิดวิเคราะห์ โดยสองทักษะแรกนั้น มีความต้องการในตลาดแรงงานสูงกว่าปริมาณบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการนี้ ผลสำรวจนี้ยังเผยว่า ผู้นำธุรกิจให้ความสำคัญกับความสามารถทางด้านสังคมมากกว่าที่พนักงานคาดการณ์ไว้ ส่วนทักษะที่มีภาวะขาดแคลนมากที่สุด ได้แก่ การบริหารจัดการโครงการ ความเป็นผู้นำและการจัดการบุคลากร และความคิดสร้างสรรค์

วางกลยุทธ์ชัดเจน

นายไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องเสริมความพร้อมในหลายมิติ เพื่อให้คว้าโอกาสจากพลังของเอไอได้อย่างเต็มที่ ขณะนี้หลายๆ ธุรกิจของไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเปิดรับเทคโนโลยีไปแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการเพื่อทำให้เกิดกลยุทธ์เอไอที่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และระบบข้อมูลที่พร้อมจะเปิดให้เข้าถึงได้โดยสมบูรณ์

“ปัจจัยทั้งหมดนี้จะปูทางไปสู่ความสามารถที่ดีขึ้นของเอไอ และผลกระทบทางธุรกิจที่สัมผัสได้อย่างแท้จริง ภาคธุรกิจจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นความคล่องตัว เพื่อวางรากฐานของความสำเร็จในระยะยาว โดยที่ในบางกรณี อาจไม่ได้เห็นผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินในทันที”

อย่างไรก็ดี ผู้นำในภาคธุรกิจที่กำลังประยุกต์ใช้เอไอกำลังประสบกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ 1.ภาวะขาดความเป็นผู้นำทางความคิด และความมุ่งมั่นของผู้บริหารในการลงทุนกับเอไอ 2.ขาดทักษะทรัพยากรและโอกาสการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และ 3.ผู้บริหารไม่ได้ให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์กับการพัฒนาระบบข้อมูลให้พร้อมสำหรับ เอไอ

ผลสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการใช้งาน เอไอ ผู้นำธุรกิจและพนักงานที่ร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากเชื่อว่า คุณสมบัติทางวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ เอไอ เช่น การพร้อมรับความเสี่ยง การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงรุก และความร่วมมือข้ามสายงานของแต่ละทีม ยังไม่แพร่หลายนักในสภาพแวดล้อมการทำงานปัจจุบัน

ผลสำรวจพบว่า ผู้นำธุรกิจและพนักงานมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลกระทบของเอไอ ต่อการทำงานในอนาคต โดยมี 77% ของผู้นำธุรกิจ และ 58% ของพนักงาน เชื่อว่า เอไอจะช่วยทำงานปัจจุบันของพวกเขาให้ดีขึ้น หรือลดภาระในกรณีของงานที่ต้องทำซ้ำๆ อยู่เป็นประจำ

นายอะราเน็ตตา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกรณีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ หรือโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแทนที่งานแบบเดิม ผู้นำธุรกิจ 13% เชื่อว่า เอไอจะช่วยสร้างโอกาสงานใหม่ๆ ได้ ขณะที่มีเพียง 5% ที่รู้สึกว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่แรงงานคน ในภาพรวม ผู้นำธุรกิจ 90% และพนักงาน 77% มองว่าการนำ เอไอ มาประยุกต์ใช้จะช่วยเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ๆ หรือเสริมให้พวกเขาทำงานที่ทำอยู่เดิมได้ดียิ่งขึ้น