ขยับวงเงิน 'บ้านล้านหลัง' กลุ่มรายได้ต่ำ 2.5 หมื่นเป็น 4 หมื่นล้าน

ขยับวงเงิน 'บ้านล้านหลัง' กลุ่มรายได้ต่ำ 2.5 หมื่นเป็น 4 หมื่นล้าน

ครม.เห็นชอบปรับกรอบดำเนินโครงการบ้านล้านหลังของธอส. กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาท เป็น 4 หมื่นล้านบาท พร้อมขยายเวลาทำนิติกรรมถึง 30 ธ.ค.2564

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการปรับกรอบการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง) ดังนี้

1. เห็นชอบการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการจากรัฐบาล รวม 6 ปี (2562-2567) เพิ่มเติม จำนวน 789.66 ล้านบาท และยกเว้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และสำหรับค่าใช้จ่ายที่ ธอส. จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการฯ เป็นระยะเวลา 6 ปี วงเงินรวม 989.66 ล้านบาท ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. ให้ ธอส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้ดำเนินโครงการ จัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมด และแจ้งให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ และกระรวงการคลังทราบ และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ธอส. จะเสนอรายงานผลการดำเนินการและผลสัมฤทธิ์ต่อ รมว.คลัง เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานผลการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งหลังจากที่ ธอส. เปิดให้ประชาชนจองสิทธิสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจยื่นจองสิทธิสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 127,102 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่ากรอบวงเงินสินเชื่อที่ธอส. ได้กำหนดไว้จำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าโครงการบ้านล้านหลังสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน มีผู้ยื่นจองสิทธิ 113,064 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากรอบวงเงินที่ ธอส. กำหนดไว้ จำนวน 93,064 ล้านบาท (ธอส. กำหนดกรอบวงเงินไว้ 20,000 ล้านบาท) ในขณะที่ยอดจองสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่อเดือนต่อคนเกิน 25,000 บาท มีผู้ยื่นจองสิทธิเพียง 14,038 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ ธอส. กำหนดไว้ จำนวน 15,962 ล้านบาท (กำหนดกรอบวงเงินไว้ 30,000 ล้านบาท)

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ธอส.จึงได้ปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ในครั้งนี้กระทรวงการคลังจึงนำเสนอ ครม.เห็นชอบปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลังนี้ ดังนี้

1. กรอบวงเงินกู้ กลุ่มรายได้ต่อคนไม่เกิน 25,000 บาท/เดือน ปรับเพิ่มกรอบวงเงินใหม่เป็น 40,000 ล้านบาท จากเดิม 20,000 ล้านบาท และกลุ่มรายได้ต่อคนเกินกว่า 25,000 บาท/เดือน ปรับลดกรอบวงเงินใหม่เป็น 10,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท

2. กรอบระยะเวลาดำเนินการ จะสิ้นสุดการทำนิติกรรม เมื่อ ธอส.ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินคือ 50,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 30 ธ.ค.2564 จากเดิมที่จะสิ้นสุดการทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธ.ค.2562

"การปรับกรอบการดำเนินโครงการบ้านล้านหลังในครั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบเดิมที่ 50,000 ล้านบาท และในส่วนของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ธอส. ยังคงใช้ตามเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบในหลักการไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561" นายณัฐพร ระบุ

2. จากการปรับกรอบวงเงินกู้ตามข้อ 1 โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่อของโครงการสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/เดือน นั้น ส่งผลให้ ธอส. จะสูญเสียรายได้ดอกเบี้ยรับมากขึ้น เนื่องจาก ธอส.ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับกลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทที่มีจำนวนมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขอรับการชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนรัฐวิสาหกิจของ ธอส.กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการจากรัฐบาล รวม 6 ปี (2562-2567) เพิ่มเติมอีก 789.66 ล้านบาท จากเดิมที่เคยขอรับการชดเชยมาแล้วจาก ครม.เมื่อวันที่ 20 พ.ย.61 จำนวน 3,876 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินที่ ธอส. ขอรับการชดเชยทั้งสิ้น จำนวน 4,666 ล้านบาท