ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ยากทำได้จริงเพราะ 'ไม่มีเงิน'

ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ยากทำได้จริงเพราะ 'ไม่มีเงิน'

หากจะพูดว่าThe Quality of Life of a South East Asian : A Chronicle of Hope from Womb to Tomb ที่แปลโดย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ในชื่อ "คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" หรือที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาในชื่อ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" เป็นหลักคิดในการวางนโยบาย "รัฐสวัสดิการ" ก็คงไม่ผิดนัก

เพราะดูจากนโยบายพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้อง คลอดออกมาโตขึ้นจนเข้าโรงเรียน จบแล้วมีงานทำ กระทั่งตายไปอย่างมีความสุขตามอัตภาพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ทว่าทุกพรรคไม่ได้บอกว่าจะเอาเงินมาจากไหนมาจากมาดำเนินการ

ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ยากทำได้จริงเพราะ 'ไม่มีเงิน'

เปลี่ยนจากแจกเป็น "รับเลี้ยง"

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่านโยบาย มารดาประชารัฐ หริือ เกิดปั้บรับแสนว่า อย่างน้อยเป็นประโยชน์ต่อคนที่มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งที่เขาจะได้รับแม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่เชื่อว่าจะทำให้คนกลุ่มที่ได้รับมีรายได้นำไปจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น และทำให้ไม่ยากลำบากในการคิดที่จะมีลูกเพิ่มขึ้นแต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งชนชั้นกลางที่มีบุตรน้อยหรือแต่งงานช้าบางครอบครัวไม่มีบุตร จะเปลี่ยนแนวคิดหรือไม่ ตรงนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัด

อย่างไรก็ตามเกือบทุกพรรคก็ไม่ได้บอกที่มาของแหล่งเงินว่าจะเอามาจากไหนที่จะทำให้เกิดสวัสดิการเหล่านี้เพราะถ้าคิดว่าปีหนึ่งๆจะมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 6-7 แสนคน แล้วรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณอุดหนุน ซึ่งในต่างประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ จะเก็บภาษีสูงทั้งภาษีทางอ้อมและภาษีทางตรง โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะเก็บในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำรายได้ตรงนี้มาจัดสวัสดิการให้กับประชาชน ขณะที่ประเทศไทย ลดภาษีนิติบุคคลเหลือประมาณไม่เกิน 20% ของกำไรสุทธิ

ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ยากทำได้จริงเพราะ 'ไม่มีเงิน'

คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า เสนอว่าอีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้โดยที่ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณของรัฐมาก คือการสนับสนุนให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กให้ได้มาตรฐานเพื่อให้แม่ที่ต้องทำงานเอาลูกไปฝากเลี้ยง หรือสนับสนุนให้สถานประกอบการทุกแห่งมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อให้พนักงานเอาลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานและสนับสนุนให้มีศูนย์เด็กเล็กในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ จะช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ให้สามารถไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้่

รัฐสวัสดิการแค่วาทกรรม

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าทุกพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย รัฐสวัสดิการ เหมือนกัน ต่างกันแค่วาทะกรรม แต่ไม่มีพรรคใดบอกว่าจะเอาเงินในการสร้างรัฐสวัสดิการมาจากไหน เพราะรัฐสวัสดิการไม่ว่าในรูปแบบใด เช่น เกิด ปั้บรับแสน หรือ มารดาประชารัฐถ้วนหน้า รวมทั้งนโยบายแจกเงินคนจนแบบถ้วนหน้า ต้องใช้เงินภาษีแผ่นดินทั้งสิ้น แต่ไม่มีพรรคใดบอกจะเก็บภาษีซึ่งเป็นท่ี่มาของแหล่งงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการ

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ กล่าวอีกว่าการแจกเงินคนจนว่า จะมีผลด้านดีคือ ทำให้คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนจนเพิ่มขึ้น พลังการบริโภคของคนจนเพิ่มขึ้น ไปกระตุ้น จีดีพี หรือเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้น เพราะ จีดีพี ของเศรษฐกิจไทย ประมาณครึ่งหนึ่ง มาจากการบริโภคของประชาชนทุกคน ประมาณ 22% มาจากการลงทุนของธุรกิจเอกชน ประมาณ 14-15% มาจากการใช้จ่ายของภาครัฐบาล และประมาณ14-15%มาจากดุลการค้า

ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ยากทำได้จริงเพราะ 'ไม่มีเงิน'

"นโยบายแจกเงินเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย แต่ต้องลองเทียบว่าเม็ดเงินที่ให้คนจนกับเม็ดเงินที่กลับไปพอกพูนความร่ำรวยแก่กลุ่มทุนอันไหนมากกว่ากัน การลดความเหลื่อมล้ำต้องทำให้ทุกคนต้องเท่าเทียม ทั้งการเข้าถึงทรัพย์สิน สิทธิ โอกาส และอำนาจ ความเป็นธรรม และมีศักดิ์ศรี ถึงจะเรียกว่าลดความเหลื่อมล้ำ แต่ที่ดูๆกันยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนมีนโยบายที่นำไปสู่การเพิ่มโอกาสของต่างๆของคนจนเลยทั้งๆที่หากรัฐบาลทำให้คนจนเข้มแข็งแล้ว จะลดภาระงบประมาณในการอุดหนุนลงทำให้มีเงินเหลือไปพัฒนาประเทศได้"

ดร.ณรงค์ อธิบายต่อว่าสังคมใดที่ต้องการเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับคนจนคนมีรายได้น้อยหมดทุกคน รัฐบาลนั้นต้องเก็บภาษีสูงสำหรับผู้มีรายได้สูงหรือคนรวย เพื่อนำเงินมาจัดสวัสดิการให้กับประชาชน โดยเสนอมาตรการทางภาษีที่ควรดำเนินการ 1.ภาษีอัตราก้าวหน้าของธุรกิจ เช่น ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเก็บภาษีหรือแวต 20-28% หรือ 2.ภาษีบุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้าเช่นกัน คือ รายได้สูงย่อมต้องจ่ายภาษีสูงด้วยประมาณ 17-18% นับรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทแรกขึ้นไป จนถึง 100 ล้านบาทเก็บภาษีแบบอัตราก้าว และ 3.ภาษีทรัพย์สินหรือภาษีมรดกย่อมเก็บภาษีแพงมากเช่นกัน เช่น ประเทศสวีเดน บ้านหลังที่สองจะถูกเก็บภาษีแพงยิ่งกว่าราคาบ้านเป็นเท่าตัว

ปฏิรูปภาษีลดเหลื่อมล้ำ

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิจัยจาก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนะให้ปฏิรูปภาษี แก้ไขความเหลื่อมล้ำ
สร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ในเวที สกว. (TRF Forum) จัดโดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ไว้ 5 แนวทางด้วยกัน

คือ 1.ปฏิรูปภาษีโดยเปลี่ยนมาเป็น เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบบูรณาการ โดยเงินได้ทุกชนิดต้องรายงานในแบบภาษีแล้วคำนวณรวมในปลายปี จ่ายในอัตราตามขั้นเงินได้ทำให้รัฐได้รายรับเพิ่มขึ้น
2.มีอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของเงินได้แต่ละประเภทไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง 3.ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 4.มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้รับเงิน ค่าเช่าและค่าธรรมเนียมต่างๆหลีกเลี่ยงที่จะไม่รายงาน 5.หลีกเลี่ยงลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีรายได้สูง 5.แก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นช่องโหว่รวมถึงจัดให้มีมาตรการลดการหลีกเลี่ยงภาษี

ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ยากทำได้จริงเพราะ 'ไม่มีเงิน'

ทั้งนี้ปัจจุบัน มูลค่าทรัพย์สินของ 40 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า ในรอบ 12 ปี ในปี 2561 มีมูลค่าคิดเป็น 32 % ของจีดีพี หรือ 1 ใน 3 ของ จีดีพีของประเทศ กลุ่มคนรวย Top 1 % ของประเทศ มีรายได้จากค่าเช่า เงินปันผล ดอกเบี้ย ที่คิดเป็น 50 % ของรายได้ประเภทนี้ทั้งหมดของประเทศ กลุ่มเจ้าของที่ดิน ที่มีโฉนด Top 10 % เป็นเจ้าของที่ดินกว่า 61 % ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมดของประเทศ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่ เครดิตสวิส (Credit Suisse) เผยรายงานสถานการณ์ความมั่งคั่งทั่วโลก หรือ Global Wealth Report ประจำปี 2018 ไว้ว่า ครัวเรือนไทย Top 1 % ถือครองทรัพย์สิน 66.9 % ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ไทยจึงจัดเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก แซงหน้ารัสเซีย ตุรกี อินเดีย