ยธ-สธ.ร่วมกำหนดกลุ่มโรคต้องใช้ 'กัญชา'

ยธ-สธ.ร่วมกำหนดกลุ่มโรคต้องใช้ 'กัญชา'

ยธ.-สธ.ถกกำหนดกลุ่มโรคใช้ "กัญชาทางการแพทย์" ประมาณการณ์ตัวเลขก่อนอนุมัติปลูก ชี้ข้อตกลงยูเอ็น-อาเซียนไม่เปลี่ยนกัญชาให้ถูกกฎหมาย รอรัฐบาลใหม่สานต่อ. ด้สนปลัดสธ.ระบุมีผู้ป่วยยื่นคำร้องขอใช้สารสกัดกัญชาแค่ 100 ราย

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.62 พล.อ.อ ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ ครั้งที่ 1 โดยมีนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม น.พ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบ ปรามยาเสพติด(ป.ป.ส) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดยมีการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม โดยให้ทางสาธารณสุขดูแลด้านการวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิต แปรรูปและนำไปใช้ทั้งกับแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งต้องกำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้องมีข้อบังคับหรือเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

รวมทั้งการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสถานพยาบาล และกลุ่มโรคที่ต้องใช้กัญชาในการบัดบัดทส่วนด้านกฎหมายเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม ทั้งหมดนี้จะให้ความสำคัญเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

“การประชุมจะมีการพิจารณาประเมินประเภทผู้ป่วยที่มีความต้องการใช้สารกัญชาว่ามีด้านใดบ้าง และแต่ละสูตรยาจะต้องมีส่วนผสมยาอื่นๆ ในการรักษา และในส่วนของแพทย์แผนไทยจะใช้กัญชาจำนวนเท่าใด มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการใช้เท่าใด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการกำหนดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ หากเป้าหมายในระยะแรกสำเร็จก็จะมีการขยายต่อไปในทุกๆ 3-6 เดือน” พล.อ.อประจิน กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและให้โอกาสในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนใหม่ ซึ่งจะร่วมกันขับเคลื่อนภายใต้ภายใต้ข้อตกลงที่ไทยได้ทำไว้กับสหประชาชาติและกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ไทยในฐานะสมาชิกมีหลักการใน 2 ข้อคือ กัญชายังเป็นพืชเสพติดผิดกฎหมายและไทยจะไม่ยอมให้ยาเสพติดผิดกฎหมายเปลี่ยนมาถูกต้องตามกฎหมาย และพืชเสพติดได้ใช้เฉพาะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น. ขณะนี้พ.ร.บ.ยาเสพติดฯชุดใหญ่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสนช. ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการปรับแก้เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกันในส่วนที่เกี่ยวกับกัญชา คงจะดำเนินการได้หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่

ด้านน.พ.สุขุม กล่าวว่า หลังจากองค์การอาหารและยา(อย.) เปิดให้ประชาชนที่มีกัญชาอยู่ในครอบครองหรือผู้ที่ใช้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชาแจ้งความต่องการและคำร้องเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนกพ.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยได้ยื่นคำร้องขอใช้สารสกัดจากกัญชาประมาณ 100 ราย และมีผู้สนใจสอบถามเข้ามากว่า 1,000 ราย ขณะที่ในต่างจังหวัดมีสอบถามเข้ามาไม่มากนัก โดยยังเหลือเวลาอีก 90 วันเท่านั้น