จีนรุกลงทุนอิเล็กฯ 'อีอีซี'

จีนรุกลงทุนอิเล็กฯ 'อีอีซี'

กระแสลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ "อีอีซี" บูม บริษัทผลิตจอแสดงผลอัจฉริยะจากจีน ขยายลงทุนตั้งโรงงานฉะเชิงเทรา หนีผลกระทบสงครามการค้า นำร่องลงทุน 100 ล้านบ. ผลิตสินค้าป้อนตลาดไทย ยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐ เอเชียใต้ เผยตลาดโลกเติบโตสูง ปี2565แตะ2.7แสนล้านดอลลาร์

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ เพื่อดึงเทคโนโลยีใหม่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่าปี 2561 กิจการอิเล็กทรอนิกส์ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 23,057 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าลดลง 54% แต่แนวโน้มในปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้นัธุรกิจของประเทศคู่ขัดแย้งย้ายฐานมาตั้งโรงงานในไทย เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงทางการค้า

ล่าสุด บริษัทเบสเซอร์ ดิสเพลย์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพของจีนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีจอโทรทัศน์ดิสเพลย์ หรือจอแสดงผลอัจฉริยะ ที่รวมเทคโนโลยี ทัชสกรีน และเทคโนโลยีเชื่อมต่อฟังชั้นการแสดงผลต่างๆ ชั้นนำจากประเทศจีน ได้มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาตั้งโรงงานในไทย

จีนรุกลงทุนอิเล็กฯ \'อีอีซี\'

นายธนาวุฒิ ฟางจิราสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบสเซอร์ ดิสเพลย์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เซินเจิ้น เบสเซอร์ ดิสเพลย์ อีควิปเมนท์ จำกัด หรือ เบสเซอร์ ผู้วิจัยพัฒนา ออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าจอแสดงผลอัจฉริยะจากจีน ขยายธุรกิจเข้าสู่ไทย โดยตั้งบริษัท เบสเซอร์ ดิสเพลย์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้แผนการลงทุน 100 ล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า จะตั้งโรงงานผลิตจอแสดงผลอัจฉริยะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) จ.ฉะเชิงเทรา โดยร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายไทย 40% บริษัทแม่จากจีน 30% และนักธุรกิจไต้หวัน 30%

ชี้ไทยเหมาะสมลงทุนที่สุด

สำหรับ สาเหตุที่เลือกตั้งฐานการผลิตนอกประเทศจีนที่ไทยเป็นแห่งแรก เพราะไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคที่ดี มีแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สูง มีความเจริญมานาน คนไทยมีความเป็นมิตรสูง และที่สำคัญรัฐบาลไทยได้ให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอย่างเต็มที่

รวมทั้งจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นแรงผลักดันให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อลดอุปสรรคการค้าที่จะเกิดขึ้น จึงมั่นใจที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตที่จะป้อนให้กับตลาดในประเทศไทยและทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายยอดขายภายในประเทศไทย 40% ที่เหลืออีก 60% จะส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลัก ได้แก่ ยุโรป รองลงมาเป็นออสเตรเลีย สหรัฐ อาเซียน และเอเชียใต้ ส่วนในอนาคตมีแผนที่ขยายไปตั้งโรงงานในอินเดีย เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ

“แม้ว่าประเทศอื่นในอาเซียนจะมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า แต่ถ้าทักษะแรงงานไม่มีคุณภาพ จะเกิดสินค้าที่เสียหายมากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่า นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานก็เป็นเรื่องสำคัญ หากกระแสไฟฟ้าไม่เสถียร ตกหรือดับบ่อย ก็กระทบต่อการทำงานของเครื่องจักร ดังนั้นจึงมองว่าจากปัจจัยต่างๆ แล้วไทยมีความพร้อมมากที่สุด”

เล็งตั้งฐานผลิตที่ฉะเชิงเทรา

สำหรับแผนการดำเนินงานในประเทศไทย ในช่วงปี 2562-2563 จะนำสินค้าจากจีนเข้ามาขายก่อนเพื่อขยายตลาด จากนั้นในปีปี 2565 จะลงทุนตั้งโรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา จะสร้างโรงงานแล้วเสร็จในปี 2567 มีกำลังการผลิตขั้นต้นที่ 3.6 หมื่นเครื่อง รวมทั้งจะใช้ไทยเป็นฐานการวิจัยพัฒนาออกแบบสินค้า เพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งจะตั้งสำนักงานในภาคต่างๆทั่วประเทศภายใน 1-2 ปี เพิ่มจากปัจจุบันที่มีสำนักงาน 2 แห่ง ที่นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี และจ.นนทบุรี ซึ่งในปี 2562 ที่เป็นปีแรกที่เข้ามาทำตลาด คาดว่าตลาดในไทยจะมียอดขายประมาณ 20-30 ล้านบาท

นายธนาวุฒิ กล่าวว่า จากการประเมินภาพรวมของตลาดจอภาพอินเตอร์แอคทีฟดิสเพลย์ทั้งโลกในปี 2558 มีมูลค่า 9.9 พันล้านดอลลาร์ และในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.69 แสนล้านดอลลาร์ เพราะในอนาคตยอดการใช้จอภาพทัสกรีนในอุปกรณ์ต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า และสื่อโฆษณาต่างๆจะใช้จอภาพทัสกรีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของโรงงานในไทย ที่จะขยายกำลังการผลิตรองรับกับความต้องการของตลาดโลก

“ในปัจจุบัน โรงงาน เบสเซอร์ ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีนมีกำลังการผลิต 3.6 หมื่นเครื่องต่อปี มียอดขาย 1,000 ล้านบาท แต่จะขยายกำลังการผลิตในไทยให้มากกว่าที่จีน เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลักของบริษัท ซึ่งในขั้นต้นจะมีกำลังการผลิต 3.6 หมื่นเครื่อง จากนั้นจะขยายกำลังการผลิตเป็น 4,000-5,000 เครื่องในอนาคต”

เจาะตลาดสตาร์ทอัพ-โรงเรียน

โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะเจาะตลาดในไทย จะเป็นกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ ที่เจ้าของธุรกิจจะต้องเดินทางตลอดเวลา จึงต้องประชุมผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีแค่ภาพและเสียง แต่เทคโนโลยีของบริษัทฯ จะสื่อสารได้ทั้งภาพ เสียง กราฟ เอกสารดิจิทัลข้อมูลต่างๆ ได้พร้อมกัน และสามารถโต้ตอบผ่านหน้าจอได้ทั้ง 2 ทาง ทำให้การประชุมต่างๆ ราบรื่น คล่องตัวสูงสุด

นอกจากนี้จะเป็นกลุ่มสถานศึกษาต่างๆ ที่ต้องการจอภาพแสดงผลอัจฉริยะ เข้ามาแทนที่กระดานดำทั่วไป เนื่องจากมีขนาดหน้าจอใหญ่ตั้งแต่ 65-98 นิ้ว และในอนาคตจะขยายไปถึง 110 นิ้ว หน้าจอใช้วัสดุกระจกที่ผ่านกระบวนการ Nano Tempering จึงทนทาน สามารถใช้ชอล์กและปากกามาร์คเกอร์สีขาววาด เขียน และลบได้เหมือนกระดานทั่วไป

โดยที่หน้าจอยังอ่านง่าย สบายตา ด้วยเทคโนโลยีการเคลือบตัดแสงสะท้อนและมุมมองภาพที่กว้างถึง 178 องศา ทั้งหน้าจอและตัวกระดานถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อฝุ่น น้ำ รอยขีดข่วน และแรงกระแทก จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้งานได้ยาวนาน ขณะที่มุมกระดานมีดีไซน์โค้งมน ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในห้องเรียนได้อีกด้วย

สำหรับ เบสเซอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 ภายใต้วิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย พร้อมด้วยบริการลูกค้าครบวงจร เพื่อมอบโซลูชั่นด้านการแสดงผลระดับ “สมาร์ท ดิสเพลย์” ที่ตอบโจทย์ของลูกค้า โดยปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าส่งออกไปจำหน่ายในหลายตลาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเหนือ-ใต้ ยุโรป เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง หรือออสเตรเลีย