ปลุกเทรนด์วิถีไทยเก๋ไก๋ ในรอยด่าง“เซ็กซ์ทัวริสซึม”

ปลุกเทรนด์วิถีไทยเก๋ไก๋ ในรอยด่าง“เซ็กซ์ทัวริสซึม”

การรับรู้ความเป็นสยามเมืองยิ้มทำให้ท่องเที่ยวไทย มีผู้คนเดินทางมาเยือนจำนวนมาก แต่ภาพลักษณ์ที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ “เซ็กซ์ทัวริสซึม” ความย้อนแย้งเกิดจากการขาดการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างองค์รวม ที่ต้องปลุกพลังท้องถิ่นวิถีไทย ภายใต้เกณฑ์ GSTC

เมื่อเอ่ยชื่อ “ประเทศไทย ในสายตาชาวโลก สิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ตีคู่มากับดินแดนสุวรรณภูมิและสยามเมืองยิ้มคือ ความเป็น เซ็กซ์ทัวริสซึม ชื่อเสียงทางลบ ที่แม้กระทั่ง แรนดี้ เดอร์แบนด์ (Randy Durband) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC-Global Sustainable Tourism Council) องค์กรทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria:GSTC)ยังยืนยันถึงการรับรู้นี้ว่าอยู่ในทัศนคติของชาวต่างชาติที่มีต่อไทยเกือบทุกคน 

แม้กระทั่ง ดร.มีฮี คัง (Mihee Kang) ผู้อำนวยการหลักสูตรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก GSTC ผู้ประเมินแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน สาวชาวเกาหลียังสำทับว่าสิ่งที่เธอแอบหวาดดระแวงพ่อบ้านทุกครั้งเมื่อมาไทยแล้วอาจจะไปข้องแวะในสถานที่อโคจร

แรนดี้ ให้มุมมองว่า ทุกประเทศมีสถานที่ท่องเที่ยวแบบที่เรียกว่าเป็นการขายบริการทางเพศให้กับนักท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เมืองไทยแตกต่างคือ ความเปิดเผยสถานที่แหล่งบันเทิงยามราตรีตามย่านต่างๆ อย่างโจ่งครึ่ม ไม่ว่าจะเป็น ซอยคาวบอย นานา และพัฒน์พงษ์ ย่านดังที่มีการแสดงโชว์เฉพาะมีให้เห็นอย่างดาษดื่น ทั้งที่เมืองไทยระบุว่าส่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถือเป็น“ความย้อนแย้ง”กับสายตานักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย

แน่นอนภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้น ขัดกับเจตนารมณ์ของ หลักเกณฑ์ GSTC (Global Sustainable Tourism Council) ซึ่งเป็นเกณฑ์ภายใต้การอนุมัติขององค์การท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (The United Nations World Tourism :UNTWO) เพื่อที่จะสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานและตัวชี้วัดของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือ การบริการโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน (Destination) สอดคล้องกับ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals ) 17ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งความเป็นเซ็กซ์ทัวร์ของไทยหากนำหลักเกณฑ์GSTCเข้ามาประเมิน สิ่งที่อาจจะขัดกับเกณฑ์คือการ ค้ามนุษย์ และใช้แรงงานเด็ก (Human Trafficking)

ทว่าไทย ถือว่ามีจุดขายที่ผสมผสานและซับซ้อน แม้จะถูกรับรู้ในความเป็นเซ็กซ์ทัวริสซึม แต่อีกมุมหนึ่งก็มีความรุ่มรวยของอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ GSTC

“เมืองไทยมีชื่อเสียงเซ็กซ์ทัวร์ในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก จนนักท่องเที่ยวหลายคนไม่รับรู้ในความงดงามทางวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่นของไทย ที่ไทยต้องหยิบขึ้นมาส่งเสริมการพัฒนาให้ยั่งยืน เช่น น่าน หรือ แพร่ หากไทยต้องการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่กลับยังมีสถานที่เซ็กซ์ทัวริสซึมอย่างเปิดเผยถือเป็นความขัดแย้ง ก่อนอื่นควรร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเป็นองค์รวม ในทิศทางเดียวกัน ไม่แยกส่วนมีการบังคับใช้กฎหมายด้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง”

ด้านดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ให้มุมมองต่อชื่อเสียงของความเป็น “เซ็กซ์ทัวริสซึม” ว่า ต้องยอมรับว่าไทยมีความหลากหลายด้านแหล่งท่องท่องเที่ยวชุมชน ความงดงามทางอัตลักษณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการกระจายรายได้ให้กับชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ แต่กลับยังมีแหล่งท่องเที่ยวเซ็กซ์ทัวร์ ที่จะต้องบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหานี้

ทั้งนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถือเป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังเติบโตอย่างสูง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT)ปัจจุบันสัดส่วนนักท่องเที่ยวFITในไทยมีถึง68%ถือเป็นสัดส่วนหลักที่เป็นโอกาสสร้างฐานนักท่องเทียวคุณภาพ ขายอัตลักษณ์ และโดดแด่นทางวัฒนธรรมของไทยเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว

“นักท่องเที่ยวที่เติบโตในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง38ล้านคนและทำรายได้เข้าประเทศ3ล้านบาท อาจจะไม่ถูกกระจายรายได้ไปถึงชุมชน โดยกว่า1ล้านบาทอาจจะไปตกนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญหรือทรัพยากรถูกทำลาย การพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนจึงเป็นการกระจายรายได้ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน”

ทั้งนี้อพท. มีบทบาทเข้าไปส่งเสริมชุมชนต้นแบบเพื่อยกระดับให้เข้ากับหลักเกณฑ์ของGSTCให้บริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากล ซึ่งเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจการสร้างคุณค่าจากอัตลักษณ์ท้องถิ่น และส่งต่อให้กับฝ่ายการตลาด นั่นคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) นำไปทำการตลาดประชาสัมพันธ์ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourist) ซึ่งเป็นเทรนด์ของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจการท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นถึง15%

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยถึง แผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกันกับการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน โดยในปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการพัฒนาที่นำเกณฑ์ประเมินของ GSTC  ที่มีหลักเกณฑ์การประเมินแบบชัดเจนเข้าไปยกระดับการพัฒนายั่งยืนของชุมชน หลังจากมีการเตรียมความพร้อมการพัฒนาบุคลากร องค์กรมากกว่า5ปี จึงเข้าไปพัฒนายกระดับลงลึกสู่ชุมชนให้มีการบริหารจัดการความยั่งยืนระดับโลกใน4ด้านตามเกณฑ์GSTCประกอบด้วยการบริหารจัดการ ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

โดยจะส่งเสริมองค์กรต้นแบบนำร่องในการพัฒนา 6 แหล่งท่องเที่ยว ที่มีโอกาสผ่านเกณฑ์และได้รับการรับรองจากGSTC ประกอบด้วย เกาะหมาก จ.ตราด, ต.ในเวียง จ.น่าน, ต.เมืองเก่า จ.สุโขทัย, ต.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, อ.เชียงคาน จ.เลย และ ต.นาเกลือ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ผ่านหลักเกณฑ์GSTCภายใน3ปี เป็นการนำร่องก่อนส่งต่อไปยังททท. เพื่อจับกลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวสีเขียวที่ส่วนใหญ่อยู่ในแถบทวีปยุโรป

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนามาตรฐานที่ปรับมาจากเกณฑ์ของGSTCมาสู่เกณฑ์ที่อพท.พัฒนาเรียกว่า เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based tourism:CBT) ซึ่งมีแผนพัฒนาชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศให้ผ่านเกณฑ์ 80 ชุมชนภายในปี2562 และขยายทำให้ทั้ง 80 ชุมชนผ่านเกณฑ์มากกว่า80%ภายในปี2565

โดยระหว่างวันที่28ก.พ.-2มี.ค.2562ที่ผ่านมาทางอพท.ได้ร่วมมือกับGSTCจัดการประชุมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนประจำภูมิภาคเอเชีย (2019 GSTC Asia Pacific Sustainable Tourism Conference)ภายใต้แนวคิด ท่องเที่ยวอย่างคุณภาพผ่านความคิดสร้างสรรค์” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลักเกณฑ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการปกป้องวัฒนธรรรมอันดีงาม รวมถึงดูแลรักษาระบบนิเวศ