สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 4-8 มีนาคม 2562

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 4-8 มีนาคม 2562

เงินบาททรงตัวในกรอบอ่อนค่า ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

-  เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ที่ 31.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาท สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ลดลงมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ

-  ในวันศุกร์ (8 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.60-32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องจับตากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ และ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณาข้อตกลง BREXIT ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยรัฐสภาอังกฤษ ความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือนม.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

-  ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,630.12 จุด ลดลง 0.69% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 23.12% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 40,708.00 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 1.41% มาปิดที่ 371.20 จุด

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลง สอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการที่ทางการจีนปรับลดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงสู่ 6.0-6.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์ แม้ว่าจะมีแรงหนุนเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคารและพลังงานบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ก็ตาม

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,625 และ 1,610 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สถานการณ์ Brexit รวมถึงปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดค้าปลีกเดือนม.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.ของยูโรโซน ตลอดจนยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ของจีน