'แกนนำ ทษช.' ตบเท้าฟังคำวินิจฉัย 'ศาลรธน.' ยุบพรรคหรือไม่

'แกนนำ ทษช.' ตบเท้าฟังคำวินิจฉัย 'ศาลรธน.' ยุบพรรคหรือไม่

ล่าสุด กลุ่มแกนนำไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ตบเท้าฟังศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่

เมื่อเวลา 13.30 น. ความเคลื่อนไหวที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นให้ศาลพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ขณะที่แกนนำหรือคณะกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหมด 40 คน ได้เดินทางมาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลแล้ว

คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ นำโดย ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช , นายมิตติ ติยะไพรัช , นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ , นายฤภพ ชินวัตร ,นายต้น ณ ระนอง ,นายพชร นริพทะพันธุ์ ,นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ ,นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร ,นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ และนายวิม รุ่งวัฒนจินดา รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์หาเสียง สมาชิกพรรครวมทั้งหมด 40 คน เดินทางมาถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ารับฟังคำวินิจฉัยของศาลว่าวันนี้จะมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ โดยยังไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่จะให้สัมภาษณ์หลังจากศาลฯมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว

ขณะที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาวินิจฉัย โดยแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ เมื่อเวลา 13:30 น. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะแถลงคำวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคหรือไม่ในเวลา 15.00 น.

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าจะยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ เกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ราย และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยทีมฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ จะมีคำชี้แจงข้อกล่าวหา เพื่อส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญรวม 20 หน้า ประเด็นข้อต่อสู้รวม 8 ประเด็น ประกอบด้วย

ข้อ 1. การดำเนินกิจการของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามประกาศอุดมการณ์ นโยบายในการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 2. พรรคฯ ทำตามประสงค์และความยินยอม ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2515 และข้อบังคับพรรค ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี

ข้อ 3. พรรคฯ เข้าใจโดยสุจริตว่าการเสนอชื่อดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 89 และ พรป. เลือกตั้งส.ส. มาตรา 13 และ 14 ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 4. เมื่อมีพระราชโองการวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 23.00 น. ภายหลังที่พรรคได้แจ้งรายชื่อบัญชีนายกฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 9.00 น. พรรคฯจึงได้แถลงโดยทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นการแสดงเจตนารมณ์โดยชัดเจนว่าพรรคฯไม่ติดใจในการเสนอชื่อนายกฯ

ข้อ 5. การกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และมาตรา 89 ประกอบมาตรา 87 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ มาตรา 14 ให้ถือว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องในทางใดๆ ต่อศาลได้

ข้อ 6. พรรคฯ เห็นว่าคำว่า “ปฏิปักษ์” ให้ความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู แต่การกระทำของผู้ถูกร้อง ได้กระทำการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นความประสงค์ของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ที่อาสาเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติ และยินยอมให้ผู้ถูกร้องเสนอชื่อ มิใช่เป็นการแอบอ้างโดยพละการ

ข้อ 7. กกต. ไม่มีอำนาจหน้าที่นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคฯว่ากระทำผิดตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560คำขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น เป็นการขยายความของพระราชโองการที่เป็นโทษ เป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่ถูกต้องอย่างยิ่งอันเป็นการนำพระราชโองการมาแอบอ้างใช้อย่างมีเจตนาไม่สุจริตเป็นการกล่าวหาโดยสร้างฐานความผิดใหม่ซึ่งไม่มีฐานกฎหมายใดๆบัญญัติไว้

ข้อ 8. มติในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ของกกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งพรรคฯมีหลักฐานนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและพรรคฯจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการที่พรรคฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ กับพรรคไทยรักษาชาติพวกเขาบอกว่า ที่เดินทางมาในวันนี้ก็ต้องการมาให้กำลังใจและฟังคำวินิจฉัยของศาลด้วยตัวเอง