ภาคกลาง-ตะวันออก 'พปชร.-พท.' สู้หนัก

ภาคกลาง-ตะวันออก 'พปชร.-พท.' สู้หนัก

การแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. ภาคกลาง-ภาคตะวันออก มีทั้งหมด 26 จังหวัด 92 เขตเลือกตั้ง

"เนชั่นวิเคราะห์" คาดว่าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)จะสามารถกวาดไปได้จำนวน 23 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย(พท.) 25 ที่่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แบ่ง ส.ส.ภาคกลางไปได้ 17 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ได้ 10 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย(ภท.) 13 ที่นั่ง ไทยรักษาชาติ(ทษช.) 3 ที่นั่ง ชาติพัฒนา(ชพน.) 1 ที่นั่ง

โดยพื้นที่มีพรรคการเมืองได้ ส.ส. ยกจังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี พรรค ชทพ. เขต 1 สรชัด สุจิตต์ ผู้สมัคร เขต 2 ณัฐวุฒิ ประเสริฐ เขต 3 ประภัตร โพธสุธน  เขต 4 เสมอกัน เที่ยงธรรม แม้ในเขต 3 จะเป็นการเจอกันระหว่างศึก 2 ตระกูล ประภัตร ชนกับ จองชัย เที่ยงธรรมที่ย้ายขั้วไปสังกัด ภท.

แต่ จองชัย ไม่อาจจะสู้ ประภัตรได้ เพราะคนเมืองมังกรไม่มีทางปันใจให้ผู้สมัครจากพรรคการเมือง แถมงวดนี้ กัญจนา ศิลปอาชา มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ควง คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา หาเสียงในพื้นที่เอง ยากเหลือเกินที่พรรคคู่แข่งจะมาจับจองเก้าอี้ ส.ส. สุพรรณบุรี

ส่วนอีกจ.ระยอง มองข้ามไม่ได้ปชป.โกยเรียบ แม้พรรค พปชร.พยายามดึงขุมกำลังสำคัญมาร่วมหัวจมท้ายด้วย แต่ก็ไม่อาจสู้กับเจ้าของพื้นที่เก่าแก่ ฟันธงได้เลยว่าปชป.ยกจังหวัด เขต 1 สาธิต ปิตุเตชะ เขต 2 แพทย์ บัญญัติ เจตนจันทร์ เขต 3 ธารา ปิตุเตชะ เขต 4 กิตติ เกียรติมนตรี

ขณะที่จ.ชลบุรี ภายใต้การนำทัพของ สนธยา คุณปลื้ม ที่สลัดพรรคท้องถิ่นอย่างพรรคพลังชล มาลงในนามพรรค พปชร. แต่ยังยึด ส.ส.ชลบุรี เกือบยกจังหวัด ประกอบด้วย เขต 1 สุชาติ ชมกลิ่น เขต 2 จองชัย วงศ์ทรายทอง เขต 3 รณเทพ อนุวัฒน์ เขต 5 พันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา เขต 6 อิทธิพล คุณปลื้ม เขต 7 ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ เขต 8 สะถิระ เผือกประพันธุ์

มีเพียง เขต 4 จิรวุฒิ สิงห์โตทอง จากพท. ที่ดูแล้วมาแรงกว่า สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ที่ย้ายจากพรรคปชป.มาลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคพปชร. ทำให้ฐานคะแนนต้องเริ่มกันใหม่ โค้งแรกนายจิรวุฒิยังมีแต้มนำอยู่

ส่วนจ.ปทุมธานี พื้นที่เรดโซน ผู้สมัครจากพรรค พท. เกือบกวดเรียบยกจังหวัด ประกอบด้วย จ.ปทุมธานี เขต 1 สุรพงษ์ อึ้งอัมพร เขต 2 ศุภชัย นพขำ เขต 3 สมศักดิ์ ใจแคล้ว เขต 5 พรพิมล ธรรมสาร เขต 6 สมชาย รังสิวัฒศักดิ์

เหลือเพียงเขต 4 เกียรติศักดิ์ ส่องแสง จากปชป. ได้ใจจากชาวปทุมธานีเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ลงไปให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในขณะนั้นและลงทำงานการเมืองมาอย่างต่อเนื่องจะสามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้

สำหรับ จ.กาญจนบุรี ยังคงเป็นพื้นที่หลักของพรรคปชป. แม้หลายคนจะมองว่าเป็นเขตทหาร แต่ก็ยังไม่สามารถเจาะได้ ยกเว้นเขต 1 พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ พท.ยังคงรักษาพื้นที่ไว้ได้อย่างเหนียวแน่ ส่วนที่เหลือปชป.กวาดหมด เขต 2 ฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร เขต 3 ปารเมศ โพธารากุล เขต 4 ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ เขต 5 ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์

รวมถึง จ.อยุธยา ที่ยังเป็นพื้นที่เรดโซนเช่นกัน ฐานเสียงไม่แข็งอย่าคิดเข้ากรุงเก่า เว้นไว้เพียง เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร แม้จะย้ายไปพรรคภท. แต่ยังเชื่อใจได้ ที่เหลือพรรคพท.ครองแชมป์ เขต 1 เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร เขต 2 นพ ชีวานันท์ พท. เขต 3 วิทยา บุรณศิริ พท. เขต 4 จิรทัศ ไกรเดชา

ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ว่ากันว่าแข่งหนักสู้กันดุ ศึกตระกูลใหญ่ค้ำคอ ทั้ง ตระกูลฉายแสง-ตระกูลตันเจริญ แต่ก็คงเฉลี่ยเก้าอี้กันไป โดยเขต 1 บุญเลิศ ไพรินทร์ ปชป. เขต 2 สมชัย อัศวชัยโสภณ พท. เขต 3 สุชาติ ตันเจริญ พปชร. เขต 4 วุฒิพงศ์ ฉายแสง ทษช.

จ.สมุทรปราการ สู้กันดุเดือดหลัง ตระกูลอัศวเหม กลับมาลงการเมืองสนามใหญ่ เขต 1 ตัวเต็ง อัครวัฒน์ อัศวเหม จากพปชร. เขต 2 ยงยุทธ สุวรรณบุตร จากพปชร. มีโอกาสเข้าวินสูงเช่นกัน เขต 3 ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย จากพท. ฐานเสียงแน่นคว้าชัยไม่ยาก เขต 4 วรชัย เหมะ จากพท. คงไม่พลาดเป้า

เขต 5 สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ จากพท. ได้แรงหนุนจากหนุ่มสาวโรงงานภาคอีสาน เขต 6 เบียดกันมาระหว่าง เรวดี รัศมิทัต จากภท. กับ ฐาปกรณ์ กุลเจริญ จาก พปชร. ต้องสู้กันจนนาทีสุดท้าย เขต 7 ไพลิน เทียนสุวรรณ มีโอกาสเข้าวินสูง

จ.สระแก้ว เกมหลายหน้าของตระกูลเทียนทอง แต่แตกหน่อให้บรรดาลูก-หลาน ย้ายพรรคต่อยอดคอนเนคชั่น ที่แบเบอร์ เขต 1 ฐานิสร์ เทียนทอง เขต 2 ตรีนุช เทียนทอง เขต 3 สรวงศ์ เทียนทอง จากพรรคพท.

บทสรุปของ จ.สระแก้ว หนีไม่พ้นการแบ่งเค้กกันของตระกูล “เทียนทอง” พปชร. 2 ที่นั่ง พท. 1 ที่นั่ง คนที่สุขสมหวังมากที่สุดหนีไม่พ้น เสนาะ เทียนทอง ที่ตัวอยู่เองสังกัดพท.

ขณะที่ จ.นครปฐม บ้านใหญ่ ตระกูลสะสมทรัพย์ ใช่ว่าจะกวาด ส.ส.ยกจังหวัด เพราะเขต 1 พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร จากปชป.พอเบียดได้ เพราะลงพื้นที่ชุมชนใกล้ชิดกับชาวบ้านมานาน

ส่วนอีก 4 ที่นั่งยกให้เครือข่ายตระกูลสะสมทรัพย์ ที่ย้ายมาสังกัดพรรคชทพ. ท่ามกลางกระแสข่าวงานนี้มี “บิ๊กสีเขียว” ฝากฝังกันมา ทั้งเขต 2 ภาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ เขต 3 ก่อเกียรติ สิริยะเสถียร เขต 4 อนุชา สะสมทรัพย์ เขต 5 เผดิมชัย สะสมทรัพย์ มาวินแบบชัวร์ๆ

ข้ามฟากมาที่ จ.ราชบุรี พื้นที่เครือข่าย กลุ่มสามมิตร จากค่าย พปชร. กวาดไป 3 ที่นั่ง ประกอบด้วย เขต 1 กุลวลี นพอมรบดี พปชร. เขต 2 บุญยิ่ง นิติกาญจนา พปชร. เขต 4 ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร พปชร. ส่วนที่เหลือแบ่งให้เจ้าของพื้นที่เดิมทั้ง เขต 3 ชัยทิพย์ กลมพันธุ์ทิพย์ ปชป. เขต 5 บุญลือ ประเสริฐโสภา ภท.

จ.ลพบุรี พปรช.กับภท.แบ่งกันพรรคละ 2 ที่นั่ง โดย เขต 1 ประทวน สุทธิอำนวยเดช กับ เขต 3 อำนวย คลังผา ที่โดนพลังดูดดึงเข้าพรรค พื้นที่ยังเหนียวแน่น ขณะที่ เขต 2 มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ภท. และ เขต 4 เกียรติ เหลืองขจรวิทย์ จากภท. คว้าชัยค่อนข้างชัวร์

ส่วนจังหวัดที่เก้าอี้ส.ส.น้อย แต่การันตีคุณภาพ อย่าง จ.สมุทรสาคร เขต 1 เต็งจ๋า อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ จากชทพ. เขต 2 อภิชาต โพธิ์ถนอม จากชทพ. ค่อนข้างแบเบอร์ เขต 3 จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ จากพปชร. มาแรง

จ.อุทัยธานี เขต 1 กุลเดช พัวพัฒนกุล จากปชป. แรงสนับสนุนยังเพียบ เขต 2 ชาดา ไทยเศรษฐ์ แม้จะย้ายมาซบพรรคภท. แต่ฐานเสียงในพื้นที่แน่นปึ้ก ไม่มีสามารถเจาะได้ เข้าวินไม่ยาก จ.ชัยนาท แม้ลูกพี่ใหญ่อย่าง อนุชา นาคาศัย จะไม่ลงส.ส.เขต แต่มวยแทนอย่างอนุสรณ์ นาคาศัย พปชร. เขต 1 มณเฑียร สงฆ์ประชา พปชร. เขต 2 ไม่ทำให้ต้องผิดหวังอย่างแน่นอน

บทสรุปการเลือกตั้งในภาคกลาง-ภาคตะวันออก จะออกมาเป็นอย่างไร วันที่ 24 มีคำตอบ คะแนนของ พปชร.ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ 23 ที่นั่ง พท. 25 ที่นั่ง ทั้ง 2 พรรคต้องสู้กันหนักวัดกันจนนาทีสุดท้าย